กรมอนามัยแนะ "ออกเจ" ควรกินอาหารอย่างไร? เพื่อปรับสภาพร่างกาย
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ หลังออกเจให้กินอาหารย่อยง่าย รสไม่จัด เพื่อปรับสภาพร่างกาย เน้นกินเนื้อปลา ไข่ นม ผัก ผลไม้ เลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อวัว เนื้อหมู ลดปัญหาท้องอืด
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ หลังออกเจให้กินอาหารย่อยง่าย รสไม่จัด เพื่อปรับสภาพร่างกาย เน้นกินเนื้อปลา ไข่ นม ผัก ผลไม้ เลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อวัว เนื้อหมู ลดปัญหาท้องอืด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การกินเจติดต่อกันเป็นเวลา 9 วัน ส่งผลให้ร่างกายมีการปรับสภาพของระบบการย่อยอาหารจากที่ย่อยเนื้อสัตว์มาเป็นพืชผัก เป็นหลักแทน เมื่อหลังออกเจในช่วง 2-3 วันแรก ประชาชนควรปรับสภาพร่างกายด้วยการกินอาหารอ่อน ย่อยง่ายประเภทเนื้อปลา ไข่ นมผักและผลไม้ ให้หลากหลายครบ 5 หมู่ เลือกรสไม่จัด เลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม และอาหารย่อยยากอย่างเนื้อสัตว์ติดมันเนื้อวัว เนื้อหมู เพื่อให้ร่างกายค่อยๆปรับระบบการย่อยอาหารจากพืชผักมาเป็นเนื้อสัตว์ในช่วงแรก เพราะหากบริโภคอาหารที่ย่อยยากหรืออาหารตามปกติเลย อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง และย่อยอาหารได้ไม่ดี
โดยเมนูอาหารย่อยง่าย อาทิไข่ตุ๋นทรงเครื่อง ปลานึ่งขิง แกงจืดเต้าหู้ไข่ใบตำลึง สำหรับผู้ที่ต้องการจะกลับมาดื่มนมวัวหลังออกเจ แนะนำให้เริ่มดื่มครั้งละน้อย ประมาณครึ่งแก้ว และสามารถเพิ่มเป็นครั้งละ 1 แก้วได้ในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือดื่มนมหลังอาหารขณะที่ท้องไม่ว่าง หรือดื่มนมในช่วงสายหรือช่วงบ่าย ในมื้ออาหารว่างหรือเลือกผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการย่อยน้ำตาลแลคโตสบางส่วนโดยจุลินทรีย์ เช่น โยเกิร์ตหรืออาจดื่มนมถั่วเหลืองทดแทนไปก่อน เมื่อรู้สึกว่าร่างกายสามารถปรับสภาพการย่อยอาหารกลับสู่ภาวะเดิมได้แล้วก็สามารถกินอาหารและดื่มนมได้ตามปกติ
ทั้งนี้ หลังจากออกเจถือเป็นโอกาสที่ดีในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ดีขึ้น โดยกินอาหารที่มีประโยชน์ครบมื้อ แต่ละมื้อให้ครบ 5 หมู่ หลากหลายชนิดในปริมาณที่เหมาะสม กินข้าวและแป้งแต่พอดี ควรเลือกเป็นข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ หรือธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา กินไข่ ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ เพิ่มผักใบเขียว และกินผลไม้ไม่หวานจัด เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินความจำเป็น รวมทั้งดื่มนมรสจืดเป็นประจำ และดื่มน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว
ที่มา กรมอนามัย
ภาพจาก TNN Online / AFP