ค่า Service Charge (เซอร์วิสชาร์จ) ต้องจ่ายไหม ร้านเก็บจากลูกค้าได้หรือไม่?
โฆษก สคบ.กางข้อกฎหมายชัด "Service Charge" (เซอร์วิสชาร์จ) ร้านมีสิทธิเก็บลูกค้าหรือไม่ และผู้บริโภคมีสิทธิที่จะไม่จ่ายได้หรือไม่
โฆษก สคบ.กางข้อกฎหมายชัด "Service Charge" (เซอร์วิสชาร์จ) ร้านมีสิทธิเก็บลูกค้าหรือไม่ และผู้บริโภคมีสิทธิที่จะไม่จ่ายได้หรือไม่
จากกรณีที่ในโลกสังคมออนไลน์ มีการพูดถึงการเก็บค่าบริการ Service Charge (เซอร์วิสชาร์จ) โดยยังเกิดข้อสงสัยของคนในสังคมว่า สรุปแล้วร้านสามารถเรียกเก็บค่าบริการจากผู้บริโภค และผู้บริโภคมีสิทธิที่จะไม่จ่ายได้หรือไม่
ล่าสุด วันนี้ (4 ต.ค.65) พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษก สคบ. ขอให้ข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มเติม ดังนี้
ผู้บริโภคมีสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
ข้อที่ 1 สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
ข้อที่ 2 สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
ข้อที่ 4 สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
Service Charge (เซอร์วิสชาร์จ) คืออะไร?
Service Charge (เซอร์วิสชาร์จ) คือ ค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบธุรกิจ เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการร้านอาหารที่ให้บริการเป็นพิเศษแก่ลูกค้า ซึ่งจะแตกต่างจากการให้ทิป (สินน้ำใจ) ที่ให้โดยสมัครใจ
ดังนั้น ในการให้บริการผู้ประกอบอาจคิดค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าอาหาร ซึ่ง Service charge อาจเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 69 พ.ศ. 2565 ข้อ 9
ส่วนกรณีผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารเรียกเก็บ Service charge เป็นค่าใช้จ่ายอื่นตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 69 พ.ศ. 2565 ข้อ 9
ผู้ประกอบธุรกิจ "ต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจนและครบถ้วน" โดยแสดงไว้ควบคู่กับการแสดงราคาอาหาร เพื่อให้ลูกค้าทราบราคาค่าอาหารและค่า Service charge ที่จะสามารถตัดสินใจว่าจะใช้บริการหรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิของผู้บริโภคตามกฎหมาย
ร้านต้องรู้! คิดจะเรียกเก็บค่า Service Charge ต้องทำตามนี้
สคบ. ระบุด้วยว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจควรปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่า Service charge ดังนี้
(5.1) การแจ้งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น (Service charge) ผู้ประกอบธุรกิจควรแสดงไว้บริเวณหน้าร้านค้า เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจนและสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเข้าใช้บริการในร้านอาหารหรือไม่
(5.2) ค่าใช้จ่ายอื่นที่เรียกเก็บควรมีความชัดเจนโดยแสดงเป็นราคาต่อหน่วย หากมีการเรียกเก็บโดยคิดจากราคาค่าอาหารต้องมีการแสดงไว้ควบคู่กับการแสดงราคาอาหารในแต่ละรายการ
(5.3) Service charge ที่เรียกเก็บ ควรกำหนดราคาที่เหมาะสมตามสมควร เพื่อไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยคำนึงถึงบริการที่เป็นพิเศษกว่าค่าบริการตามปกติ
ไม่แสดงป้ายเรียกเก็บ Service charge ผู้บริโภคมีสิทธิไม่จ่ายได้!
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจ "ไม่แสดงการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น" หรือแสดงการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น (Service charge) โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 69 พ.ศ. 2565
ผู้บริโภคอาจปฏิเสธไม่ชำระค่าใช้จ่ายอื่นดังกล่าวได้ และสามารถร้องทุกข์ต่อ กรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบธุรกิจได้.
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
ภาพจาก แฟ้มภาพ TNN Online