"เลือกตั้ง2566" กกต.เปิดกติกา 180 วัน อะไรทำได้-ทำไม่ได้?
เลขาธิการ กกต. เรียกประชุม กกต.จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงแนวปฏิบัติตามกติกาการหาเสียงในช่วง 180 วันก่อนสภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระ หลังนักการเมืองและพรรคการเมืองยังสับสนว่าอะไรทำได้และอะไรที่ทำไม่ได้
กกต. เปิดกติกา 180 วัน อะไรทำได้-ทำไม่ได้
นายแสวง บุญมี เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้เชิญประชุมผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านระบบ ZOOM เพื่อชี้แจงให้ กกต.จังหวัด แต่ละจังหวัด ได้รับทราบแนวทางปฏิบัติ และชี้แจงพรรคการเมืองให้เป็นแนวทางเดียวกันเกี่ยวกับเกณฑ์การหาเสียงช่วง 180 วันก่อนสภาฯ ครบวาระ เพื่อวางแนวปฏิบัติให้กับ กกต. พร้อมชี้แจง กรณี ส.ส.และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ที่กังวลต่อการเข้าร่วมงานบุญต่างๆ เช่น งานแต่งงาน กฐิน งานศพ ว่าสามารถเข้าร่วมงาน สามารถถวายของที่เจ้าภาพจัดเตรียมไว้ให้ และสามารถมอบพวงหรีดงานศพด้วยได้ แต่จะต้องไม่มอบเงินหรือทรัพย์สินต่างๆ นอกจากนี้ ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สามารถจัดงานได้เท่าที่จำเป็น เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน แต่ให้หลีกเลี่ยงงานขนาดใหญ่ที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก เพราะอาจเป็นเหตุให้ถูกร้องเรียนว่าจัดเลี้ยงหรือมหรสพ พร้อมย้ำว่า การลงพื้นที่และมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่สามารถทำได้
นายแสวง ยังชี้แจงเรื่องป้ายหาเสียงด้วยว่า พรรคการเมือง ส.ส. จะติดป้ายประกาศเลือกตั้งได้ แต่ต้องเป็นไปตามขนาดที่กำหนดไว้ ป้ายหาเสียงที่ติดไว้ก่อนประกาศ จะต้องมีการแก้ไขให้เป็นไปตามระเบียบ ขณะที่ป้ายต้อนรับรัฐมนตรีสามารถทำได้ แต่ป้ายขอบคุณรัฐมนตรี พรรคการเมือง หรือ ส.ส.ทำไม่ได้ ขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือรัฐบาล สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่พึงปฏิบัติได้ เช่น ออกรายการโทรทัศน์ เปิดงานลงพื้นที่ตรวจงานพบปะประชาชน ช่วยเหลือประชาชน แต่ถ้ากระทำการใดๆ ที่จะใช้ตำแหน่งเพื่อการหาเสียง หรือเพื่อพรรคการเมืองไม่ได้ แต่สามารถไปร่วมงานประเพณี งานแต่ง งานบวช งานศพได้ โดยจะต้องไม่มีการให้เงินหรือทรัพย์สินต่างๆ นอกจากนี้ เจ้าภาพจะประกาศชื่อและพรรคการเมืองในลักษณะหาเสียงเลือกตั้งทำไม่ได้ แต่รัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถไปหาเสียงนอกเวลาราชการได้ เช่นเดียวกับคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ และหน่วยงานของรัฐ ลงพื้นที่รับฟัง ความคิดเห็น ความเดือดร้อนของประชาชนได้
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ กกต.ชี้แจงระเบียบข้อบังคับต่างๆ ให้ชัดเจนกว่านี้ เพื่อจะได้ทราบว่า กรณีใดทำได้หรือไม่ได้ และยกกรณีตัวอย่างให้ชัดเจน เนื่องจากแต่ละจังหวัดจะมีแนวการปฏิบัติที่แตกต่างกัน จึงทำให้นักการเมืองและพรรคการเมืองกังวลใจต่อแนวทางการปฏิบัติ
ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการ กกต. และสมาชิกพรรคเสรีรวมไทย เตรียมยื่นเรื่องต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานกรรมาธิการ ปปช. สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้พิจารณาเชิญเลขาธิการ กกต. มาชี้แจงป้ายต้อนรับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในงานอุ้มพระดำน้ำ เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเขียนข้อความว่า ชาวเพชรบูรณ์ยินดีต้อนรับ ซึ่งด้านล่างของป้าย มีภาพบุคคล 6 คน โดยมีข้อความบรรยายใต้ภาพถึง ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ไปที่ติดตั้งในสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ว่าเข้าข่ายขัดกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในช่วง 180 วัน หาเสียงเลือกตั้ง ก่อนครบวาระสภาผู้แทนราษฎร หลังมีรายงานแหล่งข่าวใน กกต.ระบุว่า การขึ้นป้ายดังกล่าว ไม่ผิด
ภาพ TNNOnline / AFP