กฤษฎีกาเคาะทางออกดีล ทรู - ดีแทค ใช้ประกาศปี 61 กสทช.รับทราบและพิจารณาเงื่อนไข
ดีลรวมกิจการ ทรู-ดีแทค ล่าสุด กฤษฎีกาปลดล็อก ให้อิงประกาศ กสทช. ปี 61 ไม่ต้องขออนุมัติ ให้รับทราบรายงานและเข้าสู่กระบวนการพิจารณาออกเงื่อนไข ย้ำกสทช.ต้องคำนึงถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วย
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ตามที่ กสทช.ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อตีความอำนาจพิจารณาการรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคนั้น ล่าสุดวันนี้ 20 ก.ย.65สำนักงาน กสทช.ได้รับหนังสือตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อย และได้ส่งต่อประธานกสทช.เพื่อที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในลำดับต่อไป
หลังจากที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาออกความเห็นเกี่ยวกับอำนาจของกสทช. เพื่อใช้เป็นข้อการพิจารณากรณีรวมกิจการทรูดีแทคนั้น ล่าสุดปรากฏว่ากฤษฎีกาฯได้ส่งหนังสือตอบกลับไปยังกสทช.เป็นที่เรียบร้อย โดยมีความเห็นสรุปเป็นสาระสำคัญได้ว่าการรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูและดีแทคต้องยึดตามประกาศ กสทช.ปี 2561 ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ตามประกาศกสทช.ปี 2553 ที่กำหนดให้การรวมธุรกิจต้องได้รับอนุญาตจากกสทช.ก่อนนั้น ได้ถูกยกเลิกแล้วโดยมีประกาศ กสทช.ปี 2561 ขึ้นมาแทน ซึ่งกำหนดให้การรวมธุรกิจกระทำได้โดยจัดทำรายงานส่งให้กสทช. โดยมีทั้งกรณีที่ต้องรายงานก่อนล่วงหน้าและรายงานหลังจากรวมธุรกิจแล้ว สอดคล้องกับมาตรา 77 วรรคสามของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตเฉพาะกรณีที่จำเป็น ในการนี้ กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ตามข้อ 12 ของประกาศปี 2561 นอกจากนี้ยังให้ความเห็นว่า กสทช. ต้องใช้อำนาจโดยคำนึงถึงความได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภคกับการพัฒนากิจการโทรคมนาคมด้วย
รายงานข่าวเปิดเผยต่อไปว่าข้อคิดเห็นทางกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือเป็นประตูทางออกสำหรับกสทช.ในการพิจารณาการรวมกิจการทรูดีแทค ซึ่งคาดว่ากสทช.จะมีการเรียกประชุมวาระพิเศษเพื่อพิจารณากำหนดเงื่อนไขโดยเร็ว เพื่อลดกระทบต่อผู้บริโภคตามที่ที่หลายฝ่ายวิตกกังวล เนื่องจากกรณีนี้ล่าช้าและยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน
ภาพ TNNOnline