TNN บังคับใช้วันนี้! ราชกิจจาฯ ประกาศขั้นตอน ใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ

TNN

สังคม

บังคับใช้วันนี้! ราชกิจจาฯ ประกาศขั้นตอน ใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ

บังคับใช้วันนี้! ราชกิจจาฯ ประกาศขั้นตอน ใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ ให้ใช้บังคับตั้งแต่ 31 ส.ค. 65

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ลงนามโดย นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประกาศ ณ วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2565 จึงขอยกเนื้อหาบางส่วนที่สำคัญมาดังนี้


โดยที่เป็นการสมควรให้กระบวนการและขั้นตอนการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ประกาศกำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเห็นว่ากระบวนการและขั้นตอนดังกล่าวมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้บังคับได้ต่อไป


อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ประกอบกับมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 38/2565 (ครั้งที่ 805) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ 


ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565”


ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


สำหรับ “โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก” หมายความว่า โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประกาศใช้ สำหรับการคำนวณเงินค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละราย


ส่วน “ค่า Ft” หมายความว่า อัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าที่นำมาใช้ปรับปรุงเงินค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บในแต่ละเดือนในระหว่างที่โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ามีผลบังคับใช้ และเป็นอัตราที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม แบ่งเป็นค่า Ft ขายปลีก และค่า Ft ขายส่ง


“ค่า Ft ขายปลีก” หมายความว่า ค่า Ft ที่นำมาใช้ปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าตามประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก


“ค่า Ft ขายส่ง” หมายความว่า ค่า Ft ที่นำมาใช้ปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าตามประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง


“ผู้ใช้ไฟฟ้า” หมายความว่า บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ต้องการเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าเพื่อนำพลังงานไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมที่ไม่ใช่การประกอบกิจการระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ รวมถึงผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะจัดส่งหรือจำหน่ายให้ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดผู้ใช้พลังงานไฟฟ้า พ.ศ. 2512


ข้อ 4 การปรับค่า Ft ในแต่ละปีปฏิทินมีรอบระยะเวลา ดังต่อไปนี้


(1) เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน

(2) เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม

(3) เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม


ข้อ 5 ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและ ปตท. จัดทำข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง และส่งให้ กฟผ. เพื่อใช้ในการจัดทำข้อเสนอประมาณการค่า Ft เสนอต่อ กกพ. เพื่อให้ความเห็นชอบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 75 วัน ก่อนวันปรับค่า Ft ในแต่ละรอบระยะเวลาตามข้อ 4


ข้อ 6 ข้อมูลที่นำมาใช้จัดทำข้อเสนอประมาณการค่า Ft ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้


(1) ค่าไฟฟ้าขายปลีก ให้นำค่า Ft ขายปลีก ที่ กกพ. ให้ความเห็นชอบ คูณกับปริมาณพลังงานไฟฟ้า แล้วนำไปรวมกับคำไฟฟ้าที่คำนวณตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกในแต่ละเดือนในการเรียกเก็บคำไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละราย ระหว่างรอบระยะเวลาที่ค่า Ft มีผลใช้บังคับ


ขณะที่ข้อ 10 มีการระบุว่า กกพ. จะพิจารณาใช้แนวทางในการกำหนดค่า Ft ดังต่อไปนี้


(1) ควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ

(2) ควรอยู่ในระดับที่ทำให้มีการจัดหาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในประเทศ

(3) ควรจูงใจให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการประกอบพลังงาน

(4) คำนึงถึงความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต

(5) คำนึงถึงการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสหรือการจัดหาไฟฟ้าเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล

(6) การคำนวณอัตราค่าบริการต้องชัดเจน โปร่งใส และต้องประกาศเผยแพร่อัตราค่าบริการ

(7) ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ใช้พลังงานหรือผู้ประสงค์จะใช้พลังงานอย่างไม่เป็นธรรม


ข้อ 11 ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 64 และมาตรา 65 มติคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกำหนด กกพ. อาจพิจารณาปรับค่า Ft แตกต่างจากข้อเสนอประมาณการค่า Ft เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้าและความเป็นธรรมต่อผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน หรือรักษาเสถียรภาพของอัตราคำไฟฟ้าจากปัจจัยอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การลงทุนหรือเทคโนโลยี


ข้อ 12 เมื่อ กกพ. ให้ความเห็นชอบข้อเสนอประมาณการค่า Ft แล้ว ให้สำนักงาน กกพ. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ผ่านระบบสารสนเทศของสำนักงาน กกพ.


ข้อ 13 กกพ. จะนำผลการรับฟังความคิดเห็นตามข้อ 12 มาใช้พิจารณาเพื่อกำหนดค่า Ft และแจ้ง กฟผ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายให้เสร็จสิ้นก่อนครบกำหนดรอบระยะเวลาตามข้อ 4


ข้อ 14 ให้ กฟผ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายประกาศเผยแพร่ค่า Ft ตามที่ กกพ. ให้ความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การเผยแพร่อัตราค่าบริการ ไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนถึงกำหนดรอบระยะเวลาตามข้อ 4


ข้อ 15 กรณีมีเหตุจำเป็นที่อาจส่งผลกระทบต่อปัจจัยต่างๆ ในการพิจารณาค่า Ft กกพ. อาจพิจารณาปรับปรุงปัจจัยดังกล่าวให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงได้


ข้อ 16 ให้ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ และให้ กกพ. เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้


ข้อ 17 ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ให้ประกาศนี้มีผลใช้บังคับจนกว่าจะมีการทบทวนและประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่



ข่าวแนะนำ