TNN "หลอกลงทุน" เปิดกลโกงมิจฉาชีพ สังเกตยังไง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเช็กเลย!

TNN

สังคม

"หลอกลงทุน" เปิดกลโกงมิจฉาชีพ สังเกตยังไง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเช็กเลย!

หลอกลงทุน เปิดกลโกงมิจฉาชีพ สังเกตยังไง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเช็กเลย!

ศปอส.ตร เปิด กลโกงมิจฉาชีพ "หลอกลงทุน" พร้อมแนะวิธีสังเกต ไม่อยากตกเป็นเหยื่อเช็กเลย!

ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร) ได้โพสต์ข้อความเตือนภัยผ่านเพจเฟซบุ๊ก PCT Police เกี่ยวกับแก๊งมิจฉาชีพ โดยระบุว่า ""มิจฉาชีพ" ไม่ได้มีแค่ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์"ที่กำลังระบาด แต่ยังแฝงอยู่ในทุกวงการ ไม่เว้นแวดวงการลงทุนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหุ้น, ลงทุนคริปโทฯ และลงทุนธุรกิจต่างๆ ที่มักจะมีข้อเสนอสุดจูงใจชวนให้อยากร่วมลงทุน เข้าเส้นทางรวยฟ้าผ่า รวยเร็วแบบพลิกฝ่ามือกับเขาสักครั้ง

อัปเดต "กลโกง" หลอกลงทุนในตลาดหุ้นไทย พร้อมเทคนิคสังเกตการลงทุนลวงโลกที่ช่วยเป็นเกราะป้องกันการตกเป็นเหยื่อรายต่อไป

-การหลอกลงทุนมักจะเอาผลตอบแทนสูงในระยะสั้นๆ มาจูงใจ และตั้งแต่โซเชียลมีเดียแพร่หลายในช่วงหลังๆ เหล่ามิจฉาชีพก็สร้างความน่าเชื่อถือผ่านการนำเสนอข้อมูลปลอม 


วิธีสังเกตการหลอกลวงลงทุน

-การแอบอ้างชื่อผู้มีชื่อเสียงเพื่อชักชวนลงทุน , แก๊งมิจฉาชีพใช้ชื่อบริษัท ที่น่าเชื่อถือ และโลโก้แอบอ้างลวงคนร่วมลงทุนผ่านระบบ Line Official เพจ Facebook และช่องทางอื่นๆ, ใช้โลโก้ ก.ล.ต. เปิดเพจเพื่อหลอกให้ประชาชนร่วมลงทุน เป็นต้น

-การเปิดเพจชวนลงทุนผลตอบแทนสูง เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ทำให้หลายคนตัดสินใจร่วมลงทุน เพราะหวังผลตอบแทนสูงลิบ โฆษณาว่ารวยได้ง่ายๆ หรือลงทุนแล้วจะไม่ต้องลำบากอีกต่อไป โดยสิ่งที่ทำให้หลายคนหลงเชื่อคือ  การให้ข้อมูลที่ตอบคำถามที่หลายคนมักตั้งข้อสังเกตก่อนตัดสินใจลงทุน เช่น ทำไมต้องมาเทรดให้ เทรดให้แล้วจะได้เงินจริงหรือไม่ หลายคนเมื่อได้คำตอบและเชื่อก็ตัดสินใจร่วมลงทุน นอกจากนี้ยังมีการใช้โซเชียลมีเดียในการอัปเดตข้อมูลที่อ้างว่าได้กำไรสูง ที่ทำให้คนที่กำลังลังเลอยากลองลงทุนดูสักครั้ง

คนร้ายเปิดเพจที่มักจะใช้โลโก้ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เพื่อสร้างน่าเชื่อถือ หรือให้คนเข้าใจผิด เช่นโลโก้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ก.ล.ต. เป็นต้น

-แอบอ้างคนที่มีชื่อเสียงในแวดวงการลงทุน เช่น ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์, อิก บรรพต ธนาเพิ่มสุข พิธีกรด้านการเงินการลงทุน, พอล ภัทรพล ดารานักแสดงและยูทูบเบอร์ด้านการลงทุนและพัฒนาตัวเอง หรือแม้แต่ตัวกระทรวง ก็เคยถูกแอบอ้างชื่อไปหลอกคนอื่นมาลงทุนเช่นกัน

-ทำอินโฟกราฟิกให้ข้อมูล เช่น ชวนลงทุนผลตอบแทนสูง เริ่มต้นได้ด้วยเงินจำนวนไม่มาก หรือทำเอกสาร บลจ. ปลอม แต่ให้โอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวโดย ให้โอนเงินเข้า "บัญชีม้า" ซึ่งเป็นบัญชีที่ถูกซื้อมาจากคนที่รับเปิดบัญชีขาย เงินจะถูกโอนต่อไปเรื่อยๆ หลายบัญชี บางครั้งปลายทางคือ ต่างประเทศ หรือไปเปลี่ยเป็นคริปโทฯ ซึ่งสืบสาวได้ยาก ยากต่อการจับกุม หรือส่วนใหญ่จับได้แต่คนรับจ้างเปิดบัญชีที่เป็นด่านแรกเท่านั้น

การลงทุนหุ้นปัจจุบันสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยการลงทุนหุ้นหรือสินทรัพย์ที่ต้องใช้เงินในการลงทุน ควรจะลงทุนผ่านบริษัทที่ ก.ล.ต. กำกับและตรวจสอบได้ และมีตัวตนจริง

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง เช่น ตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชัน "SEC Check First" ที่จะรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. รวมถึงค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตเพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุน (หลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล)


 วิธีป้องกันตัวจากมิจฉาชีพหลอกลงทุน 

- ศึกษาอย่างลึกซึ้งก่อนลงทุน 

ไม่ใช่ศึกษาแบบผิวเผิน แต่ต้องศึกษาแบบลึกซึ้ง และต้องดูว่าแต่ละผลิตภัณฑ์ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร 

ไม่ว่าจะการันตีผลตอบแทนแบบไหนคนในวงการจะรู้ว่าเราการันตีผลตอบแทนกันไม่ได้การลงทุนมีความเสี่ยงด้วยตัวของมันเองโดยเฉพาะลงทุน 3,000 ได้ 30,000 #ทำไมเขาถึงไม่ใช้เงินของเขาทำเอง ทำไมต้องมาให้เรา 

- ติดต่อกับ บลจ. ที่มีใบอนุญาต จาก ก.ล.ต. โดยตรงด้วยตัวเอง นอกนั้นเชื่อไม่ได้

คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยพลาดกับมิจฉาชีพที่โทรมาจากข้างนอก แต่พลาดกับคนรู้จักที่มาแนะนำ ทั้งคนที่ไม่รู้ตัวว่าถูกหลอก และคนที่ตั้งใจมาหลอกเพราะได้ค่านายหน้า ดังนั้นต้องศึกษาด้วยตัวเองให้เข้าใจและใช้วิจารณญาณก่อนตัดสินใจลงทุน จะได้ไม่เสียใจในภายหลังนั่นเอง"





ที่มา ศปอส.ตร

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ