TNN ด่วน! พบผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" รายที่ 4 เป็นหญิงไทยในกทม. มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย

TNN

สังคม

ด่วน! พบผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" รายที่ 4 เป็นหญิงไทยในกทม. มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย

ด่วน! พบผู้ป่วย ฝีดาษลิง รายที่ 4 เป็นหญิงไทยในกทม. มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย

กรมควบคุมโรค เผย ไทยพบผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" รายที่ 2 ของกทม. และเป็นรายที่ 4 ของไทย เบื้องต้นมีผู้สัมผัสเสียงสูง 2 ราย

วันนี้( 5 ส.ค.65) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  กรมควบคุมโรคได้รับรายงานพบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร รายที่ 4 ของประเทศไทย เป็นหญิงไทย อายุ 22 ปี มีประวัติเสี่ยงไปเที่ยวสถานบันเทิง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ย่านที่ชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยว เป็นประจำประมาณสัปดาห์ละครั้ง และมีการสัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวต่างชาติ 


โดยผู้ป่วยเริ่มมีไข้ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 แต่ยังไปเที่ยวสถานบันเทิงพร้อมเพื่อนชาวไทย และชาวต่างชาติ วันที่  30 กรกฎาคม 2565 เริ่มมีตุ่มขึ้นที่แขนขา แล้วลามไปทั่วร่างกาย ร่วมถึงอวัยะเพศ วันที่ 3 สิงหาคม 2565 จึงเดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และห้องปฏิบัติการที่ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก TRC-EIDCC โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยยืนยันพบเชื้อฝีดาษวานร (Monkeypox virus) วันที่ 4 สิงหาคม 2565 ก่อนส่งตัวผู้ป่วยมารับการดูแลรักษาต่อที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค นับเป็นผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรเป็นรายที่ 4 และเป็นเพศหญิงรายแรกในประเทศ โดยผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชายชาวไนจีเรียที่ภูเก็ต รายที่ 2 ชายชาวไทย ในกรุงเทพมหานคร และรายที่ 3 ชายชาวเยอรมันที่ภูเก็ต


นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้กำชับให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ประสานสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เร่งติดตาม ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เป็นเพื่อนร่วมห้องของผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ผู้สัมผัสคนอื่นๆ และเร่งติดตามตัวชายชาวต่างชาติแล้ว และเน้นย้ำว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ ซึ่งจะติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ จึงขอให้กลุ่มเสี่ยงเพิ่มความระมัดระวังและงดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้าเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษวานร


สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ส.ค. 65) ผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 26,208 ราย พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 83 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 6,617 ราย  สเปน 4,806 ราย  เยอรมัน 2,781 ราย อังกฤษ 2,672 ราย และฝรั่งเศส 2,239 ราย


นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ขอแนะนำประชาชน ให้ปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคฝีดาษวานร หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า หรือเพิ่งรู้จักกัน งดการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก  เพราะมีความเสี่ยงที่ไม่รู้ประวัติพฤติกรรมและการป่วยของคนนั้น ย้ำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคโควิด 19 ยังสามารถป้องกันฝีดาษวานรได้ โดยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น กินอาหารร้อนปรุงสุก หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่มีอาการเข้าข่ายของโรคฝีดาษวานร โดยเฉพาะผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หนอง ตามผิวหนัง และพยายามไม่จับบริเวณหน้า ตา จมูก ปาก หากประชาชนมีอาการสงสัยว่าตนเองมีอาการป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร. 1422

ด่วน! พบผู้ป่วย ฝีดาษลิง รายที่ 4 เป็นหญิงไทยในกทม. มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย

ขณะที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้เผย การดูเเลป้องกันตนเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากโรคฝีดาษลิง โดยโรคฝีดาษลิง (Monkeyopox) ดังนี้

1.หลีกเลี่ยงสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง และตุ่มหนองของสัตว์

2.ทานเนื้อสัตว์ปรุงสุก

3.หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป

4.ไม่ควรทานเนื้อสัตว์ป่าหรือนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง

5.สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่


ฝีดาษลิง แบ่งเป็น 4 ระยะได้แก่

1.ระยะฟักตัว จะไม่แสดงอาการช่วง 5 – 44 วันหลังจากได้รับเชื้อ

2.ระยะไข้ 1 – 4 วัน มีอาการปวดหัว เจ็บคอ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลือง

3.ระยะผื่น 1 – 2 สัปดาห์ จะเริ่มจากผื่นแบน ผื่นนูน ผื่นมีน้ำใสใต้ผื่น โดยผื่นมักจะขึ้นที่บริเวณใบหน้า แขน และขา มากกว่าที่ลำตัว โดยลักษณะของผื่นจะเริ่มจากจุดแดง ๆ กลม ๆ หลังจากนั้นผื่นจะกลายเป็น ตุ่มน้ำใส และกลายเป็นตุ่มหนอง และกลายเป็นสะเก็ด เป็นช่วงระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อได้สูงสุด

4.ระยะฟื้นตัว ใช้เวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์





ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ