เปิดที่มา "ตุ๊กตาหินโบราณ" ประติมากรรมหินสลักในวัดพระแก้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
หน่วยราชการในพระองค์ เผยที่มาที่ไปหลังมีการขุดพบ "ตุ๊กตาหินโบราณ" บริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว ภายในพระบรมมหาราชวัง เผย "ประติมากรรมหินสลัก" มีอายุตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
จากกรณีที่มีการนำเสนอเรื่องราววัตถุโบราณ ประวัติศาสตร์ และมีการเผยแพร่ภาพถ่ายของ "ตุ๊กตาหินโบราณ" ที่ถูกนำมาวางในส่วนต่าง ๆ บริเวณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางนั้น
ล่าสุด หน่วยราชการในพระองค์ เผยถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับ "ประติมากรรมหินสลัก" ที่นำมาจัดแสดงหรือวางในบริเวณต่าง ๆ ว่า เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ในระหว่างการปรับปรุงเส้นทางเข้าชมภายในพระบรมมหาราชวัง บริเวณ "ประตูมณีนพรัตน์" ไปยัง "ประตูสวัสดิโสภา" เจ้าหน้าที่ได้ขุดพบประติมากรรมหินสลักจำนวนมาก จึงได้ทำการเปิดการขุดค้นทางโบราณคดี
จากหลักฐานพบว่า เป็นประติมากรรมรูปบุคคลหลากหลายเชื้อชาติ และประติมากรรมสัตว์ในเทพนิยาย ซึ่งจารึกที่พบบนประติมากรรมหินสลักบางตัว ระบุเป็นภาษาจีน ว่าทำที่มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางโจว
จากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในเบื้องต้นพบว่า "ประติมากรรมหินสลัก" เหล่านี้ ปรากฏในภาพถ่ายเก่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประดับตกแต่งอยู่โดยรอบพระอาราม และมีการโยกย้ายในรัชสมัยต่อ ๆ กันมา ซึ่งมีหลักฐานจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือทั้งในประเทศและต่างประเทศ
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการอนุรักษ์ซ่อมแซมประติมากรรมหินสลัก และนำมาประดับในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม บริเวณตำแหน่งเดิม หรือใกล้เคียงตามหลักฐานที่ปรากฏ
ด้าน เพจเฟซบุ๊ก "ชมวัดชมวา" ให้ข้อมูลระบุว่า จากแหล่งข้อมูลบอกว่ารูปตุ๊กตาหินพวกนี้มีมาตั้งแต่สมัยฉลองพระนคร 100 ปี สมัยรัชกาลที่ 5 กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรเคยสั่งเข้ามาประดับลานวัดพระแก้ว และภายหลังจากนั้น ได้ถูกนำออกไปที่ใด เมื่อใด ไม่มีใครทราบได้ ทำไมถึงถูกขุดพบใต้ดิน
ต้นเดือนนี้ได้มีการนำหุ่นตุ๊กตา มาตั้งประดับประดากันให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ที่วัดพระแก้ว บอกว่าขุดพบบริเวณวัง 130 กว่าตัว ที่บริเวณรอบนอกวัดด้านตรงข้ามกระทรวงกลาโหม ที่ปิดบูรณะอยู่ มีทั้งที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์.
ข้อมูลและภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก ชมวัดชมวา , www.royaloffice.th