TNN ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ไม่แนะนำใช้กัญชารักษาอาการป่วยเด็ก-วัยรุ่น

TNN

สังคม

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ไม่แนะนำใช้กัญชารักษาอาการป่วยเด็ก-วัยรุ่น

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ไม่แนะนำใช้กัญชารักษาอาการป่วยเด็ก-วัยรุ่น

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เสนอ งดนำสารสกัดกัญชาไปใช้รักษาอาการป่วยในเด็ก เพราะมีความเสี่ยงกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง และยังไม่มีงานวิจัยรองรับถึงประสิทธิภาพกัญชากับการรักษาเด็ก แนะควบคุมฉลาก บรรจุภัณฑ์ อาหาร เครื่องดื่มผสมกัญชาป้องกันเด็ก และเยาวชนเข้าใจผิดคิดว่าบริโภคได้

วันนี้ (15 มิ.ย.65) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ยืนยันไม่สนับสนุนการนำสารสกัดจากกัญชาไปใช้รักษาในผู้ป่วยเด็กหากไม่จำเป็นจริงๆ

เนื่องจากเด็กยังมีการเจริญเติบโตของสมองไม่เต็มที่ หากรับยาจากกัญชาติดต่อกันจะส่งผลโดยตรงทำให้พัฒนาการล่าช้า สมองเสื่อมเสี่ยงป่วยจิตเภท ไปจนถึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ติดสารเสพติดชนิดอื่น

ที่ผ่านมามีการศึกษา ทดลองใช้สารสกัดจากกัญชารักษาผู้ป่วยเด็กโรคลมชักรวม 14 คน พบอาการไม่ตอบสนองยังพบอาการชักรุนแรงร้อยละ 50   ส่วนอีกร้อยละ 50 ผลคืออาการชักทุเลาลง แต่ยังไม่ช่วยให้อาการลมชักหายขาด เพียงใช้ประคองอาการไปเรื่อยๆ และหากรับยาจากกัญชาต่อเนื่องยาวนานผลเสียจะตามมามากกว่าผลดี   

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ไม่แนะนำใช้กัญชารักษาอาการป่วยเด็ก-วัยรุ่น

ภาพจาก ทีมข่าว TNN ช่อง 16


ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ เสนอให้มีข้อกำหนด "ห้ามใช้กัญชารักษาผู้ป่วยเด็ก" เพราะนอกจากผลกระทบต่อสมอง พัฒนาการล่าช้าแล้ว ในต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ก็ไม่มีการนำกัญชาไปใช้รักษาผู้ป่วยเด็ก ที่สำคัญยังไม่มีผลวิจัยรับรองแน่ชัดถึงประสิทธิภาพกัญชารักษาโรคในเด็ก 

นอกจากการใช้สารสกัดกัญชารักษาผู้ป่วยเด็กจะมีความเสี่ยงต่อผลกระทบระยะยาว และผลข้างเคียงรุนแรงแล้ว การนำสารสกัดกัญชาไปใช้เป็นส่วนผสมของขนม และ เครื่องดื่ม ก็มีส่วนทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า และเกิดอาการสมองเสื่อมเช่นกัน 

เนื่องจากมีการนำสารสกัดกัญชาไปเป็นส่วนผสมในอาหาร ขนม น้ำดื่มวางขายหลากหลาย จนเด็กบางคนรับประทานเข้าไปโดยไม่ตั้งใจเพราะไม่ทราบ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ จึงเสนอให้ภาครัฐควบคุมฉลาก บรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกัญชา 

ติดป้ายใส่รายละเอียดขนาดปริมาณอย่างชัดเจน และไม่ให้ออกแบบผลิตภัณฑ์โดยใช้ภาพการ์ตูน หรือข้อความซึ่งสื่อไปในทิศทางเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารและขนม ที่เด็กบริโภคได้.


เรื่อง ทีมข่าว TNN ช่อง 16

ภาพจาก แฟ้มภาพ TNN ONLINE , AFP

ข่าวแนะนำ