แจกป้ายเตือน ‘อาหารผสมกัญชา’ โหลดใช้เลยถ้าไม่อยากโดนผู้บริโภคร้องเรียน
เพจดังแจกลิงก์สติ๊กเกอร์ ‘อาหารผสมกัญชา’ ผู้ประกอบการควรโหลดนำมาใช้ ถ้าไม่อยากโดนผู้บริโภคร้องเรียน
วันนี้ ( 14 มิ.ย. 65 )จากกรณีปลดล็อกกัญชาเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ผลิตภัณฑ์กัญชาไม่ถูกจัดว่าเป็นยาเสพติด และ มีร้านอาหารหลายร้านเริ่มทำเมนูผสมกัญชาออกวางขาย อย่างไรก็ตามกัญชายังมีข้อควรระวังในการใช้และไม่เหมาะกับบุคคลในบางกลุ่ม และเริ่มมีข่าวประชาชนเกิดอาการแพ้กัญชาที่ผสมในอาหารออกมาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นอุทาหรณ์ให้พ่อค้าแม่ค้า ร้านอาหารต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากในการสื่อสารกับลูกค้า
ล่าสุดเพจ Drama-addict ได้แจกลิงก์ดาวน์โหลดป้ายข้อมูลเตือนว่าอาหารหรือสินค้าที่ขายมีส่วนผสมของกัญชา พร้อมระบุข้อความว่า "ฝากถึงร้านอาหารที่ขายสินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชาทุกร้าน กรุณาติดสติ๊กเกอร์แบบนี้หน้าร้านครับ ผู้บริโภคจะได้พิจารณาได้ และคนที่ไม่ควรกินอาหารที่มีกัญชา เช่น เด็ก คนท้อง ให้นมลูก มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ จะได้หลีกเลี่ยงได้"
โหลดไฟล์ได้ที่ https://drive.google.com/.../1NivS-_R8.../view...
ขอบคุณภาพจากคุณ Thanakorn Suwanhong
ทั้งนี้กรมอนามัยได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมานี้ โดยกำหนดให้ สถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่
1. จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา
2. แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด
3. แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหารตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู
4. แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ
5.แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความ “เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) ควรระวังในการรับประทาน” “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”
6.ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค.
ข้อมูลจาก : เพจ Drama-addict / กรมอนามัย
ภาพจาก : AFP