6 ข้อแก้ปัญหารถเมล์ขาดระยะ ขนส่งฯให้ ขสมก.-รถร่วมเอกชนจัดรถให้เพียงพอ
กรมขนส่งทางบก เปิด 6 ข้อ แก้ปัญหารถเมล์ขาดระยะ-คอยนาน สั่งให้ ขสมก.-รถร่วมเอกชน จัดรถให้เพียงพอตามระยะเวลา 05.00-22.00 น.
วันนี้( 14 มิ.ย.65) นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมฯได้รับทราบปัญหาจากผู้โดยสารที่ใช้บริการเกี่ยวกับรถโดยสาร (รถเมล์) ไม่เพียงพอ ขาดระยะทำให้คอยนาน สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มีการลดเที่ยววิ่งไป ร้อยละ 10-20 แต่ปัจจุบันผู้โดยสารกลับมาอยู่ที่ร้อยละ 70 เทียบกับปี 2562 รวมถึงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ ที่กรมฯ ได้ออกใบอนุญาตประกอบการเดินรถให้เอกชน ทำให้เอกชนอยู่ระหว่างจัดหารถเมล์ใหม่มาบรรจุในเส้นทางเพื่อให้บริการผู้โดยสารด้วย
ทั้งนี้ กรมขนส่งทางยก เตรียมแนวทางแก้ปัญหา 6 ข้อ คือ
1.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ขสมก. และรถร่วมเอกชน จัดการเดินรถเหมาะสมเพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสาร โดยเฉพาะช่วงเร่งด่วนเช้าและเย็นที่ใช้บริการจำนวนมาก ต้องเพิ่มจำนวนรถ และเพิ่มความถี่มากขึ้น
2.ปรับแผนการเดินรถช่วงเวลาต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับการหมุนเวียนรถ เพราะในแต่ละช่วงเวลามีการใช้บริการไม่เท่ากัน
3.ให้ผู้ประกอบการพิจารณาตัดรถเสริมในบางเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางที่มีระยะทางไกล 30-40 กม. ซึ่งใช้เวลาเดินรถนาน สามารถจัดรถเสริมวิ่งในระยะที่สั้นลงได้
4.ผู้ประกอบการสามารถหมุนเวียนรถได้ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการผู้ใช้บริการ เช่น เส้นทางที่จำเป็นต้องใช้จำนวนรถมากกว่าปกติ สามารถนำรถในบางเส้นทางที่มีผู้โดยสารใช้บริการน้อย หมุนเวียนมาให้บริการได้
5.กรณีรถเมล์หายหลัง 20.00-21.00 น. นั้น สั่งการให้ ขสมก. และรถร่วมเอกชนที่ให้บริการทุกเส้นทางต้องให้บริการช่วงเวลา 05.00-22.00 น. ส่วนรถเมล์ให้บริการช่วงหลัง 22.00 น. จนถึงเวลา 02.00 น. ปัจจุบันมีจำนวน 21 เส้นทาง ยังคงให้บริการผู้โดยสารต่อไป ขณะเดียวกันให้ผู้ประกอบการพิจารณาเส้นทางที่ผู้โดยสารมีความต้องการใช้บริการตลอดคืนเพิ่มด้วย
6.ช่วงที่อยู่ระหว่างการผลัดเปลี่ยนผู้ประกอบการรายใหม่ และหารถเมล์มาให้บริการ บางเส้นทางที่รถไม่เพียงพอ กรมฯ ได้ให้ ขสมก. จัดเดินรถทดแทนในเส้นทางนั้นๆ ไปก่อนที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะนำรถมาบรรจุในเส้นทางได้ อย่างไรก็ตาม หากปฏิรูปเส้นทางรถเมล์สมบูรณ์แล้ว อนาคต ขบ. จะกำหนดความต่อเวลาให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น รถเมล์ต้องให้บริการทุก 10 นาที ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวชี้วัด (KPI) แต่ละเส้นทาง ให้เกิดการประเมินผลให้บริการต่อไป
ติดตามข้อมูลต่างๆได้ที่ กรมการขนส่งทางบก
ภาพจาก TNN Online