TNN ไขข้อสงสัย? 'อาการแบบจัสติน' ที่เป็นจากงูสวัด มีวัคซีนป้องกันหรือไม่

TNN

สังคม

ไขข้อสงสัย? 'อาการแบบจัสติน' ที่เป็นจากงูสวัด มีวัคซีนป้องกันหรือไม่

ไขข้อสงสัย? 'อาการแบบจัสติน' ที่เป็นจากงูสวัด มีวัคซีนป้องกันหรือไม่

เพจดังไขข้อสงสัย อาการหน้าเบี้ยวแบบจัสตินบีเบอร์ที่เกิดขึ้นจากงูสวัด มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันหรือไม่ และ ใครควรฉีด

วันนี้ ( 12 มิ.ย. 65 )จากนักร้อง-นักแต่งเพลงชื่อดังระดับโลกอย่าง ‘จัสติน บีเบอร์’ ป่วยด้วยอาการ ‘โรคแรมเซย์ ฮันท์’ จนทำให้หน้าเป็นอัมพาตไปครึ่งซีก โดยมีผลกระทบสืบเนื่องจากโรคงูสวัด นอกจากต้นเหตุของการเกิดโรคแล้ว ใครหลายคนยังสงสัยว่า โรคนี้สามารถป้องกันด้วยวัคซีนหรือไม่ ล่าสุด เพจ Drama-addict ได้ออกมาตอบคำถามดังกล่าวผ่านแฟนเพจ โดยระบุว่า 

“ลูกเพจสอบถามมาประเด็นนี้ ว่าอาการของจัสติน บีเบอร์ ที่เป็นจากงูสวัดทำให้เส้นประสาทที่หน้าอักเสบ อันนี้มีวัคซีนป้องกันมั้ย

 คำตอบคือ มีครับ

เป็นวัคซีนที่ปัจจุบันมีฉีดทั่วไปแล้ว และแนะนำให้กลุ่มที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรไปฉีด หรือถ้าอายุเกิน 50 และมีประวัติสุกใสมาก่อน เพราะโรคนี้จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยกว่าครึ่งในแต่ละปี อายุเกิน 60 ปี และในกลุ่มผู้สูงอายุจะเสี่ยงที่จะป่วยหนักกว่ากลุ่มหนุ่มสาว ปัจจุบันราคายังสูงอยู่ เช็คราคาตาม โรงพยาบาลเอกชน ราคาที่ประมาณ 6-7 พันบาท ”

รู้จักวัคซีนโรคงูสวัดอันเป็นเหตุให้ ‘จัสติน’ หน้าเบี้ยว

วัคซีนงูสวัดเป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นในการฉีดเข็มกระตุ้น สามารถให้ร่วมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ได้ในเวลาเดียวกัน วัคซีนสามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัดได้ เฉลี่ยร้อยละ 51 ในผู้สูงอายุ และสามารถลดการเกิดอาการปวดตามแนวเส้นประสาท

ใครควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ? 

- ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ทั้งที่เคยเป็นและไม่เคยเป็นโรคงูสวัด หรือโรคอีสุกอีใสมาก่อน

-  ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50-59 ปีที่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใส หรือโรคงูสวัดมาก่อน

ใคร “ควรงด” รับวัคซีนป้องกันงูสวัด? 

- เคยมีประวัติแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง ได้แก่ สารเจลาติน หรือยา Neomycin

- เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ จึงห้ามฉีดในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง เช่น กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือยาสเตียรอยด์ขนาดสูง ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีค่า CD4 ต่ำมาก

- หญิงตั้งครรภ์ หรือ อาจจะตั้งครรภ์

- หากมีไข้สูง หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน รอให้หายป่วยก่อนจึงค่อยมารับวัคซีน

กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับวัคซีนได้

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังรับวัคซีนป้องกันงูสวัด

อาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ แต่พบได้น้อยมาก ปฏิกิริยาที่อาจพบได้หลังฉีดวัคซีน ได้แก่ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด ซึ่งมักจะหายเองได้ใน 1-2 วัน อาการข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่ มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ซึ่งมักจะหายเองได้ใน 1-2 วัน

หมายเหตุควรระวังจากวัคซีนงูสวัด 

- ผู้หญิงที่รับวัคซีนต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือนหลังฉีดวัคซีน

- ไม่ใช้วัคซีนป้องกันงูสวัด เพื่อป้องกันโรคอีสุกอีใส

- วัคซีนป้องกันงูสวัด เป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ผู้รับวัคซีนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน

** หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์ **

ทั้งนี้ ‘งูสวัด’  เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Varicella Zoster Virus (VZV) เชื้อนี้เป็นไวรัสชนิดเดียวกับเชื้อก่อโรคอีสุกอีใส ซึ่งแพร่กระจายโดยการสัมผัสโดยตรง เช่น การสัมผัสกับแผลของผู้ป่วย โดยผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ครั้งแรกจะเกิดโรคอีสุกอีใส (Varicella; Chickenpox)

 เมื่อหายจากโรค เชื้อนี้ยังไม่หมดไปจากร่างกายแต่จะไปหลบอยู่ที่บริเวณปมประสาทจนเมื่อผู้ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง เช่น การเจ็บป่วยหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อนี้ก็จะถูกกระตุ้นให้ออกจากปมประสาทมาก่อโรคบริเวณผิวหนังที่ปลายประสาทมาเลี้ยง โดยจะเกิดเป็นตุ่มน้ำใส มีอาการปวดแสบปวดร้อน ตุ่มน้ำใสนี้จะคงอยู่ประมาณ 5 วัน จากนั้นจะตกสะเก็ดและหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ 

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาทเกิดขึ้นได้ อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการปวดเส้นประสาท (Postherpetic neuralgia) พบได้ถึงร้อยละ 40-44 ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแปลบบริเวณที่เกิดตุ่มน้ำใสหลังจากที่ตุ่มน้ำใสหายไปแล้ว อาการปวดนี้จะคงอยู่หลายเดือน หรือถ้าเชื้อเข้าสู่ตาอาจทำให้ตาบอดได้

 อาการแทรกซ้อนที่สำคัญอีกอย่าง คือ การที่เชื้อเคลื่อนออกจากปมประสาทเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดสมองอักเสบ (VZV encephalitis) อาการส่วนมากจะเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ซึ่งถ้าทำการรักษาไม่ทันอาจทำให้ "เสียชีวิตได้" 

ไขข้อสงสัย? 'อาการแบบจัสติน' ที่เป็นจากงูสวัด มีวัคซีนป้องกันหรือไม่


ข้อมูลจาก  :   เพจ Drama-addict / โรงพยาบาลพญาไท

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพจาก :    AFP/ อินสตราแกรม justinbieber


ข่าวแนะนำ