ผลสำรวจพบ “ผู้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ” ในช่วงโควิด เพิ่ม 2 เท่า
ผลสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดพบว่ามีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 มากขึ้น
วันนี้ ( 12 มิ.ย. 65)รองศาสตราจารย์นายแพทย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนาของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) โดยระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข เน้นเสมอ คือ ใช้กัญชาทางการแพทย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ ไม่ส่งเสริมสันทนาการ แต่มองว่ายังมีสิ่งที่น่ากังวล คือ การนำไปใช้ในทางสันทนาการ แต่อ้างข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น อ้างว่าปวดหัว รู้สึกไม่สบาย พร้อมชี้ว่า ขนาดของอุปทาน หรือ Supply size กำลังโตขึ้นอย่างมหาศาล หากโตเกินความต้องการ อนาคตจะเกิดการลงใต้ดินไปขายที่อื่น ซึ่งจะต้องมีเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการใช้ในโรงเรียน
ด้านรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงรัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เปิดผลสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ที่สำรวจประชากร 5,000 คน ในปี 2563-2565 พบว่ามีการใช้กัญชาในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 มากขึ้น ที่สำคัญคือใน 2 ปี มานี้พบผู้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยพบว่ากลุ่มวัยกลางคนเป็นกลุ่มที่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการมากที่สุด โดยมาในรูปแบบของการกินดื่ม ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี พบอัตราการสูบมากถึง 2 เท่า สวนทางกับการใช้สารเสพติดชนิดอื่นที่ลดลง
ส่วนการใช้เพื่อการแพทย์แนะนำว่า ควรใช้ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ และใช้ให้น้อยที่สุด และควรหลีกเลี่ยงการนำสารจากกัญชาเข้าสู่ร่างกาย ส่วนการทำอาหาร ควรใส่ใบกัญชา 1-2 ใบ เท่านั้น เพราะถ้าใส่มากเกินไปอาจมึนเมาและต้องระวังสาร THC ที่มีฤทธิ์ทำให้มึนเมา ซึ่งอาจส่งผลต่อชีวิต
ข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพจาก : TNN ONLINE