กัญชาเสรี! กลิ่น-ควัน ทำให้เกิดความรำคาญ มีโทษทางกฎหมายทั้งจำคุก-ปรับ
กรมอนามัย เร่งแจ้งจังหวัด กทม. สสจ. ถือปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด พ.ศ. 2565 หลังประธานคณะกรรมการสาธารณสุขลงนามแล้ว มีผลตั้งแต่ 9 มิย.นี้
วันนี้ (12 มิ.ย.65) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประธานคณะกรรมการสาธารณสุข ได้ลงนามในคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญ จากการกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด พ.ศ. 2565 แล้ว
โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายนนี้ ซึ่งขณะนี้ อธิบดีกรมอนามัยในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสาธารณสุข ได้ทำหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร
และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด เพื่อสนับสนุนดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าวตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
สำหรับรายละเอียดคำแนะนำต่อราชการส่วนท้องถิ่น ได้กำหนดให้การควบคุมเหตุรำคาญตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข มีดังนี้
1) ควบคุมการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดในทำนองเดียวกัน โดยไม่ก่อเหตุรำคาญจากกลิ่น หรือ ควันรบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
2) เมื่อได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญ เรื่อง กลิ่นหรือควันจากการสูบกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ให้เจ้าพนักงานดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย โดยศึกษาข้อมูลเบื้องต้น เช่น สถานที่หรือบริเวณที่ถูกประชาชนร้องเรียน แหล่งกำเนิดกลิ่นหรือควัน ลักษณะกลิ่น ช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น 3) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าเรื่องร้องเรียนไม่เป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งผู้ร้องเรียนทราบ และยุติเรื่อง
กรณีพบว่าเรื่องร้องเรียนนั้น เข้าข่ายเป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานพิจารณาออกคำแนะนำ เพื่อให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ
โดยให้ระบุข้อเท็จจริงที่ตรวจพบ รวมทั้งระบุมาตรการหรือวิธีการที่ใช้ในการแก้ไข หรือปรับปรุงให้เหตุรำคาญนั้นระงับไปภายในระยะเวลาที่กำหนด 4) ให้เจ้าพนักงานติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานที่กำหนดให้ผู้ถูกร้องเรียนต้องปฏิบัติ
หากผู้ถูกร้องเรียนไม่ดำเนินการตามคำแนะนำ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งทางปกครอง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 หรือ มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี เพื่อให้ผู้ก่อเหตุดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญภายในระยะเวลาที่กำหนด
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรณีผู้ถูกร้องเรียนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
โดยอัตราโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้ถูกร้องเรียนปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง เรื่องยุติ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบต่อไป.
ข้อมูลจาก กรมอนามัย
ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP