"ฝีดาษลิง" พบการกลายพันธุ์จาก 4 ปีก่อนมากถึง 40 ตำแหน่ง!
ศูนย์จีโนมฯเผยข้อมูล "ฝีดาษลิง" พบมีการกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสฝีดาษลิงที่ระบาดเมื่อ 4 ปีก่อน ถึง 40 ตำแหน่ง ส่งผลให้มีอัตราการเปลี่ยนแปลงบนจีโนมของไวรัสเพิ่มขึ้น 10-20 เท่า
วันนี้(3 มิ.ย.65) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับโรค ฝีดาษลิง (MONKEYPOX)
โดยระบุว่า "ไวรัสฝีดาษลิงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2561-2565) มีการติดต่อระหว่างคนสู่คนส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์บนจีโนมไปถึง 40 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม มีการกลายพันธุ์เร็วขึ้นเป็น “1 ตำแหน่งต่อจีโนมต่อเดือน” จากเดิมเป็นเพียง “1 ตำแหน่งต่อจีโนมต่อปี”
ไวรัสฝีดาษ (Pox virus) เป็นดีเอ็นเอไวรัสที่มีอัตราวิวัฒนาการหรือการกลายพันธุ์อยู่ในเกณฑ์ต่ำ คือ ประมาณ “1 ครั้งต่อจีโนม (200,000 ตำแหน่ง) ต่อปี" อย่างไรก็ตามจากการที่นักวิจัยร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสฝีดาษลิงที่ ขณะนี้มีการระบาดหลายประเทศในทวีปยุโรป อเมริกา และ ออสเตรเลีย ตั้งแต่พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า มีการกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสฝีดาษลิงที่ระบาดเมื่อ 4 ปีก่อน ถึง 40 ตำแหน่ง ส่งผลให้มีอัตราการเปลี่ยนแปลงบนจีโนมของไวรัสฝีดาษลิงเพิ่มขึ้น 10-20 เท่า
โดยมีการกลายพันธุ์เพิ่มเป็นประมาณ “1 ตำแหน่งต่อจีโนมต่อเดือน" ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการกลายพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น 10-20 เท่าในบรรดาไวรัสฝีดาษลิงในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2561 จะส่งผลอย่างไรกับการระบาดและอาการจากการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ (ภาพ 1)
โดยพบว่าการกลายพันธุ์มีลักษณะเฉพาะคือมีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงจากเบส G เป็น A หรือ C และเปลี่ยนเป็น T (G->A/C->T) ซึ่งไม่พบการกลายพันธุ์ในรูปแบบ (pattern)นี้ก่อนปี 2561 คาดว่าน่าจะเกิดจากเอนไซม์จากยีนมนุษย์ “APOBEC3G" เป็นเหตุให้เกิดการกลายพันธุ์ในรูปแบบดังกล่าวขึ้นบนจีโนมของไวรัสฝีดาษลิง (ภาพ 2-3)
หมายเหตุ ยีน “APOBEC3G" สร้างเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันต้านไวรัสที่เข้ามารุกรานเซลล์โดยเอนไซม์จากยีน APOBEC3G จะเข้าตัดหรือเปลี่ยนแปลงจีโนมของไวรัสซึ่งเป็นดีเอ็นเอในบางตำแหน่ง(mutating and inactivating viral genomes via single-strand DNA editing) ในช่วงที่มีการระบาดระหว่างคนสู่คนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาทำให้ไวรัสฝีดาษลิงส่วนใหญ่ที่ถูกทำลายและส่วนน้อยที่เหลือรอดจะเกิดการกลายพันธุ์ไปอย่างมาก
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการกลายพันธุ์ในรูปแบบนี้จะส่งผลอย่างไรต่อการแพร่ระบาดและอาการของผู้ติดเชื้อ แต่ที่ชัดเจนคือการกลายพันธุ์บนจีโนมของไวรัสฝีดาษลิงในคนในช่วง
4 ปีที่ผ่านมาไม่มีความสำคัญหรือเป็นอันตรายต่อไวรัสเอง และไม่มีหลักฐานว่าเป็นการปรับตัวของไวรัสแต่ประการใด เพียงแต่จะช่วยให้เราใช้เป็นตำแหน่งในการแยกแยะการระบาดของไวรัสฝีดาษลิงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจากไวรัสฝีดาษลิงดั้งเดิม ที่มีการระบาดมาก่อนหน้านี้ และทำให้เกิดความเข้าใจว่าไวรัสฝีดาษลิงกลุ่มต่างๆมีการแพร่กระจายอย่างไรจากสัตว์สู่คน และจากคนสู่คน"
ที่มา ศูนย์จีโนมทางการแพทย์
ภาพจาก รอยเตอร์/AFP