ความดันโลหิตสูง ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอะไรบ้าง-หากรุนแรงมักมีอาการเหล่านี้?
ความดันโลหิตสูง ปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรคอะไรบ้าง น่าห่วงคนไทยกว่า 7 ล้านคน ไม่ทราบว่าตนเองป่วย
วันนี้ (17 พ.ค.65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปีเป็น วันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) โดยปี 2565 นี้ สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ คือ “Measure Your Blood Pressure, Control It, Live Longer วัดความดันอย่างไร สูงเกินไปคุมให้ดี ช่วยยืดชีวีให้ยืนยาว” โดยกระทรวงสาธารณสุข มุ่งเน้นการวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง และส่งเสริมการคัดกรองโดยสร้างความตระหนักในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
ปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรคอื่นๆ
โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชากร โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในกลุ่มประชากรอายุ 30-79 ปี มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเกือบ 1.3 พันล้านคน และมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้นแต่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ และยังพบว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยในปี 2562-2563 พบว่าประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 13 ล้านคน และในจำนวนนี้มีมากถึง 7 ล้านคน ไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ความรุนแรงของโรค
หากผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการดูแลรักษา ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น อาจแสดงอาการต่างๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ ใจสั่น ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย วิงเวียน สับสน หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ
ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
ทั้งนี้ หากได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พร้อมติดตามวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดียิ่งขึ้น และจะลดภาวะแทรกซ้อน ที่รุนแรงได้เป็นอย่างดี
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค เล็งเห็นความสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคความดันโลหิตสูง ได้สนับสนุนให้มีเครื่องวัดความดันโลหิตในพื้นที่สาธารณะเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการวัดความดันโลหิตมากขึ้น สร้างความตระหนักและสร้างการรับรู้ต่อสุขภาพของตนเอง มุ่งเน้นให้ประชาชนวัดความดันโลหิตอย่างถูกวิธีและทราบระดับความดันโลหิตของตนเอง รวมถึงสามารถปฏิบัติตน เพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้ โดยใช้หลัก 3อ. 2ส. ดังนี้
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ (ไม่หวานจัด)
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอวันละ 30 นาที
3. ทำจิตใจให้สงบเพื่อจัดการความเครียด
4. ไม่สูบบุหรี่
5. ไม่ดื่มสุรา
วิธีการวัดความดันโลหิต
สำหรับวิธีการวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง คือ
1. ผู้ถูกวัด ควรมีการเตรียมตัวก่อนการวัด ไม่ดื่มชา-กาแฟ และไม่สูบบุหรี่ก่อนทำการวัด 30 นาที
2. นั่งบนเก้าอี้หลังพิงพนักและหลังตรง
3. งดการพูดคุยระหว่างวัดความดันโลหิต
4. วางแขนไว้บนโต๊ะให้ปลอกแขน (Arm cuff) อยู่ระดับเดียวกับหัวใจ
5. ไม่เกร็งแขนและไม่กำมือขณะวัดความดันโลหิต
6. เท้าทั้งสองวางราบกับพื้นไม่ไขว่ห้าง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ภาพจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข / TNN ONLINE