TNN รู้จัก “โรคซิฟิลิส” คืออะไร? ไม่ต้องมีเพศสัมพันธ์ก็ติดต่อได้

TNN

สังคม

รู้จัก “โรคซิฟิลิส” คืออะไร? ไม่ต้องมีเพศสัมพันธ์ก็ติดต่อได้

รู้จัก “โรคซิฟิลิส” คืออะไร? ไม่ต้องมีเพศสัมพันธ์ก็ติดต่อได้

ทำความรู้จัก “โรคซิฟิลิส” คืออะไร ? ติดต่อกันได้อย่างไรหากไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ เมื่อป่วยแล้วควรรักษาอย่างไรให้หายขาดได้

วันนี้ ( 14 พ.ค. 65 ) ทำความรู้จัก “โรคซิฟิลิส” โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “ทริปโปนีมา พัลลิดุม” สาเหตุการติดโรคเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์  แต่ยังสามารถติดต่อผ่านสาเหตุอื่นอาทิ เช่น ผ่านการสัมผัสแผล การรับเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อ และ การติดต่อจากแม่สู่ลูกในสตรีมีครรภ์ ได้อีกด้วยหลังจากได้รับเชื้อ “โรคซิฟิลิส” ในช่วงแรกอาจจะพบแผลที่อวัยวะเพศ หลังจากนั้นแผลจะหายได้เอง และจะมีผื่นตามร่างกาย ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือที่อวัยวะเพศ อาจมีผมร่วงเป็นหย่อมๆได้ 

ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสบางรายอาจจะไม่แสดงอาการ แต่เชื้อนั้นจะอยู่ในร่างกายถ้าไม่ได้รับการรักษา เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เชื้อนี้สามารถก่อให้เกิดความผิดปรกติที่สมอง และระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดง ผู้ป่วยจะทราบว่าติดเชื้อได้ต่อเมื่อมีการไปตรวจเลือด เช่น การตรวจเลือดเพื่อบริจาคเลือด หรือการตรวจคัดกรองในระยะฝากครรภ์  ซึ่งโรคนี้มียารักษาและสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ควรมีการตรวจติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูระดับผลเลือด

อาการของโรค “โรคซิฟิลิส”  เป็นอย่างไร?

โรคซิฟิลิสมีการแบ่งระยะทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่ 

ระยะที่ 1 ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กตรงจุดที่เกิดการติดเชื้อโดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศในระยะนี้จะเกิดแผลหลังรับเชื้อไปแล้วไม่เกิน 2 เดือน และหายไปเองภายใน 6 สัปดาห์ ลักษณะของแผลเรียบสะอาด ขอบแข็งไม่เจ็บ ส่วนใหญ่เป็นแผลเดี่ยวตื้นๆ เรียกว่าแผลริมแข็ง และ มีอาการต่อมน้ำเหลืองโตที่ขาหนีบ แต่กดแล้วไม่เจ็บ

ระยะที่ 2 อาการจะพัฒนาจากระยะที่ 1 ในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน โดยจะเกิดตุ่มขึ้นตามตัว น้ำหนักลดลง ต่อมน้ำเหลืองมีอาการบวม และผมร่วง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ  คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น แต่ก็เช่นเดียวกับระยะที่ 1 อาการเหล่านี้สามารถหายได้เองเช่นกัน ระยะสงบ เป็นระยะที่ผู้ป่วยแทบไม่แสดงอาการแต่ยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกายก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ซิฟิลิสระยะสุดท้าย

ระยะที่ 3 จะไม่ปรากฏอาการใดๆของโรค แต่สามารถตรวจพบเชื้อได้ในกระแสเลือด ผลเลือดซิฟิลิสเป็นบวก ในสตรีที่มาฝากครรภ์และผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มักพบโรคซิฟิลิสระยะแฝงนี้มากกว่าระยะอื่น หากมาถึงระยะนี้และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลข้างเคียงอย่างรุนแรง เช่น มีผลต่อระบบประสาท หัวใจ สมอง เป็นอัมพาต เสียสติ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

รู้จัก “โรคซิฟิลิส” คืออะไร? ไม่ต้องมีเพศสัมพันธ์ก็ติดต่อได้

รคซิฟิลิสอันตรายไหม? 

ผู้ที่มีเชื้อซิฟิลิส หากไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่ครบตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ เชื้อจะแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น  หัวใจ สำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิฟิลิส อาจเกิดภาวะแท้ง ทารกเสียชีวิตในครรภ์ คลอดก่อนกำหนด หรือทารกพิการแต่กำเนิดได้

โรคซิฟิลิส รักษาได้อย่างไร? 

นิยมรักษาด้วยยาเพนนิซิลิน  ซึ่งเป็นยาที่ได้ผลดีในการรักษาโรคนี้ให้หายได้ โดยการฉีดยาเพนนิซิลินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ต่อเนื่องในการทำลายเชื้อ ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาเพนนิซิลิน  จะให้ยาชนิดอื่นรับประทาน  เช่น อีริโทรมัยซินรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน 1 เดือน 

ระหว่างการรักษา ต้องมาพบแพทย์ตามแผนการรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีด ให้มาฉีดยาตามวัน เวลาที่แพทย์กำหนด และครบตามจำนวนครั้งที่แพทย์สั่ง ในกรณีที่รักษาด้วยยารับประทานให้มาพบแพทย์ตามนัด  ถ้ารับการรักษาไม่ครบตามคำสั่งแพทย์ ต้องเริ่มต้นรักษาใหม่ แพทย์จะนัดมาตรวจเลือดหลังได้รับการรักษาครบ 3 เดือนและนัดเป็นระยะๆ จนครบ 5 ปี หรือเมื่อแพทย์พิจารณาเห็นควรให้เลิกนัดได้  และ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง  เพราะจะทำให้โรคไม่หายขาดและอาจแพ้ยาได้

ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเพชรเวช, กรมควบคุมโรค, คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพจาก : AFP

ข่าวแนะนำ