วันวิสาขบูชา 2566 เปิดที่มาทำไมจึงถูกยกให้เป็นวันสำคัญสากลของโลก
3 มิถุนายน 2566 ตรงกับวันสำคัญทางศาสนา คือ "วันวิสาขบูชา" ขณะที่ องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลก
3 มิถุนายน 2566 ตรงกับวันสำคัญทางศาสนา คือ วันวิสาขบูชา โดยเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ 3 อย่างมาบรรจบกัน ได้แก่ วันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพาน ขณะที่ องค์การสหประชาชาติ ยังได้กำหนดให้วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลกด้วย
วันวิสาขบูชา หมายถึงอะไร
ความหมายคำว่า “วิสาขบูชา” เป็นรูปภาษาบาลี ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุณณมีบูชา” บางทีก็เขียนเป็น “วิศาขบูชา” ซึ่งเป็นรูปภาษาสันสกฤต แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งมีเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธองค์ 3 ประการ ได้แก่ วันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพาน
คำว่า “วิสาขะ” หรือ “วิสาขะ” เป็นชื่อของดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ 16 ในบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหลายในท้องฟ้า ดาวฤกษ์กลุ่มนี้มี 5 ดวง ไทยเรียกว่า “ดาวคันฉัตร” เมื่อดวงจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์นั้น เป็นระยะเวลาที่ตรงกับเดือนที่ 6 ของไทย ฉะนั้น คำว่า วิสาขะ จึงเป็นชื่อของเดือนที่ 6 หรือเดือน 6 (ตามจันทรคติ)
ความสำคัญของวันวิสาขบูชา
วันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในรอบปี เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้า “ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน” มีเรื่องย่อเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งสามนั้น ดังต่อไปนี้
ประสูติ
เมื่อ 80 ปีก่อนพุทธศักราช ณ ลุมพินีวัน อันเป็นสวนที่ร่มรื่นตั้งอยู่ที่พรมแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะต่อกัน ปัจจุบันนี้เรียกว่า “ตำบลรุมมินเด” ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล พระพุทธเจ้าประสูติที่ใต้ต้นรัง เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6
สาเหตุที่พระพุทธเจ้าประสูติที่ลุมพินีวันนี้ เนื่องจากพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดาเป็นเจ้าหญิงโกลิยวงศ์แห่งเทวทหนคร เมื่อทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าสุทโธทนะและมาประทับอยู่ที่กรุงกบิลพัสดุ์ ครั้งทรงพระครรภ์ถ้วนทศมาสมีพระทัยปรารถนาจะเสด็จไปเทวหนครอันเป็นมาตุภูมิของพระองค์
เพื่อประสูติพระราชโอรสที่นั่นตามธรรมเนียมพราหมณ์ ในวันเพ็ญเดือน 6 เวลาเช้า พระนางทรงวอทองเสด็จจากรุงกบิลพัสดุ์เวลาใกล้เที่ยง เสด็จถึงลุมพินีวันจึงพักขบวนเสด็จพระนางเสด็จลงจากวอทองไปประทับที่ใต้ต้นสาละ หรือต้นรังต้นหนึ่ง ได้ประชวรพระครรภ์และประสูติพระราชโอรสที่ใต้ต้นสาละในลุมพินีวันในวันนั้น
ตรัสรู้
จากวันประสูตินั้นมา 35 ปีบริบูรณ์ คือ 45 ปีก่อนพุทธศักราช ณ โคนต้นอัสสัตถะหรือต้นโพธิ์ ใกล้ฝั่งตะวันตกแห่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ปัจจุบันนี้เรียกว่าพุทธคยา จังหวัดคยา แคว้นพิหาร พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ใต้ต้นโพธิ์นี้ เมื่อขึ้น 15 ค่ำเดือน 6
ปรินิพพาน
เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอกอัครบุคคลในโลกแล้ว พระองค์เสด็จไปตามสถานที่ต่างๆเ พื่อทรงประกาศพระศาสนา สั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ทรงสอนประชาชนด้วยวิธีการ 3 อย่าง และด้วยประโยชน์ 3 ชั้น
วิธีการ 3 อย่าง คือ
1. ทรงสอนให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น
2. ทรงสอนมีเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามเห็นจริงได้
3. ทรงสอนมีผลคือผู้ปฏิบัติย่อมได้รับผลตามสมควรแก่ความปฏิบัติ
ประโยชน์ 3 ชั้น คือ
1. ทิฏฐธัมมิกัตถระโยชน์ คือ ประโยชน์ปัจจุบันสอนให้ตั้งตัวได้ทันที นี่เป็นประโยชน์ชั้นต้น
2. สัมปรายกัตถประโยชน์ คือประโยชน์ภายหน้า หมายความว่า สอนให้มีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปในกาลข้างหน้า นี่เป็นประโยชน์ชั้นกล
3. ปรมัตถประโยชน์ คือประโยชน์ชั้นสูง หมายความว่า สอนให้หมดกิเลส สำเร็จอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
พระองค์ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์อยู่ 45 ปี เมื่อมีพระชนมายุ 80 พระพรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ระหว่างต้นสาละคู่ในสาลวโนทยานเมืองกุสินาราเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ด้วยเหตุที่พระพุทธเจ้าประสูติตรัสรู้และปรินิพพานใน วันเพ็ญเดือน 6 ดังกล่าวมานี้ดังนั้นวันเพ็ญเดือน 6 จึงเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจัดทำพิธีสักการบูชาเป็นพิเศษที่ เรียกว่า “วิสาขบูชา”
องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้ "วันวิสาขบูชา" เป็นวันสำคัญสากลของโลก
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 54 ได้พิจารณาระเบียบวาระที่ 174 International Recognition of the Day of Vesak ในการพิจารณาประธานสมัชชาฯ ได้เชิญผู้แทนศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอร่างข้อมติ และเชิญผู้แทนไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฏาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดีย ขึ้นกล่าวถ้อยแถลง
สรุปความว่า “วันวิสาขบูชา” เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลกเพราะเป็นวันที่ พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคมอันเป็นแนวทางของสหประชาชาติ
จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญ ของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึงตามความเหมาะสม
ที่ประชุมฯ ได้รับรองร่างข้อมติโดยฉันทามติ เนื่องจากคณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกัน ประกาศให้ "วันวิสาขบูชา" ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลก
ทั้งนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายในโลก จะเห็นได้จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วยกล่าวคือทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ให้รู้จักช่วยเหลือสัตว์ เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน
วันวิสาขบูชา เวียนเทียนหรือไม่ ชาวพุทธต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
"วันวิสาขบูชา" เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนต้องให้ความสำคัญและพร้อมใจกันเข้าร่วมปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ตามสมควรแก่ฐานะของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำความเข้าใจให้ถูกต้องฝึกฝนตนเองและนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันอันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม
แนวทางที่พึงปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชนที่เกี่ยวเนื่องกับวันวิสาขบูชามีดังต่อไปนี้
ให้ทาน - ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรในภาคเช้า บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ยากไร้ หรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
รักษาศีล - สำรวมระวังกายและวาจา ด้วยการรักษาศีล 5 หรือศีล 8 หรือศีลอุโบสถ
เจริญภาวนา - ฝึกสมาธิทำ จิตใจให้สงบรวมทั้งพัฒนาปัญญาด้วยการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาเห็นสภาพความเป็นจริงของชีวิต และโลก
เวียนเทียน - การเดินประทักษิณเป็นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา
ข้อมูลจาก หนังสือวันวิสาขบูชา กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
ภาพจาก แฟ้มภาพ TNN ONLINE