เช็กมาตรการเปิดเทอม 17 พ.ค.แบ่งดูแลนักเรียน 2 กลุ่ม เด็กติดโควิด เข้าเรียนได้
เช็กมาตรการเปิดเทอม 17 พ.ค.แบ่งดูแลนักเรียน 2 กลุ่ม เด็กติดโควิด เข้าเรียนได้ จัดการเรียนการสอนได้ตามความเหมาะสมภายใต้มาตรการสาธารณสุข
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร. สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมชี้แจงมาตรการเปิดเรียน On-Site ปลอดภัย อยู่ได้กับโควิด-19 ในสถานศึกษาเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน 1/2565
นายสาธิต ระบุว่า สถานการณ์โควิดขณะนี้แนวโน้มที่จะลดลง ในการที่จะใกล้เปิดเทอม ถือว่าสอดรับในการที่ประเทศไทยตั้งเป้าในการเดินหน้า โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นหลังจากเด็กต้องหยุดเรียนในระบบ On-Site และเรียน Online มานาน โดยระยะเวลาที่เหลือต่อจากนี้ เพื่อให้สถานศึกษา ในแต่ละพื้นที่ซักซ้อมแผนในการเปิดเรียน On-Site ให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ย้ำ 4 เรื่องสำคัญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สถานศึกษา และผู้ปกครอง เร่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก 5-11 ปี ซึ่งสถานศึกษาต้องเร่งสำรวจเด็กที่ยังไม่ได้เข้ารับวัคซีน และการเข้ารับวัคซีนเข็ม2 ให้ครอบคลุม
ส่วนเด็ก 12-18 ปี จะเป็นในส่วนการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยขอให้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าการฉีดวัคซีนถึงแม้จะอยู่ภายใต้ความสมัครใจของผู้ปกครอง แต่คำแนะนำยังคงให้เขารับวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิต สาธารณสุขจังหวัด และศูนย์อนามัย ขอให้ประสานสถานศึกษาให้เข้ารับการประเมินในระบบ Thai Stop covid Plus ถึงความพร้อมของสถานศึกษา มาตรการต่างๆ ครู-นักเรียนขอให้มีการประเมินความเสี่ยงของตัวเองเป็นประจำผ่าน Thai save Thai ส่วนเรื่องการตรวจเชื้อ ATK กรมอนามัยได้มีการหารือกับศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ขอให้เป็นการตรวจเชื้อในรูปแบบ เฝ้าระวังอย่างเหมาะสมเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยง หรือเมื่อมีอาการเท่านั้น
ด้านปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า โรงเรียนที่จะเปิดภาคเรียนในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ มีจากหลายสังกัด ทั้งหมดประมาณ 30,000 กว่าแห่ง แบ่งเป็น สพฐ. 29,200 แห่ง เอกชน 4,001 แห่ง และอื่น สังกัด กทม. สังกัดท้องถิ่น 1,800 แห่ง โดยใน สถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษาจะเปิดกันพร้อมกันทั่วประเทศ รวมถึงกลุ่ม สถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ก็จะเปิดเทอมพร้อมกันด้วย
อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า ในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเด็ก 12 -18 ปี ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรัดให้มีการเข้ารับวัคซีน โดยเด็ก 12-17 ปี ข้อมูลถึงวันที่ 2 พฤษภาคม ฉีดเข็ม 1 อยู่ที่ 3.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 77.2 เข็มที่ 2 ฉีดไปแล้วอยู่ที่ 3.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ75.5 และเข็มกระตุ้มเข็มที่3 อยู่ที่ 2.4 แสนคน หรือ ร้อยละ 5.2
ส่วนเด็กประถม 5 - 11 ปี ข้อมูลถึงวันที่ 2 พฤษภาคม การฉีดเข็ม 1 อยู่ที่ร้อยละ 53.3 จำนวน 2.7 ล้านคน ส่วนเข็ม 2 ยังคงน้อยอยู่ที่ ร้อยละ 13.1 จำนวน6.7 แสนคน ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ มีมาตรการชัดเจนในการที่จะเปิดเรียนเต็มรูปแบบในช่วง 17 พฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่งอาจจะทำให้พบผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาได้มีมาตรการแผนเผชิญเหตุไว้รองรับแล้ว มาตรการเปิดเรียนในโรงเรียนประจำ
โดยจะแบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงผู้ติดเชื้อ จะมีการจัดการเรียนการสอนหรือทำกิจกรรมในโซนเฉพาะเป็นเวลา 5 วัน และติดตามสังเกตอาการอีก 5 วันกรณีได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบแนะนำหากไม่มีอาการไม่แนะนำให้กักกัน
ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองหาเชื้อด้วย ATK ถ้ามีอาการให้ตรวจทันทีโดยให้ตรวจครั้งที่ 1 และวันที่ 5 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อและครั้งสุดท้ายวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ ส่วนผู้ติดเชื้อโควิด ทางสถานศึกษาจะต้องพิจารณาร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่แยกกักตัว ที่โรงเรียนและประสานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กรณีไม่มีอาการเลย หรือมีอาการเล็กน้อย สามารถ จัดการเรียนการสอนได้ตามความเหมาะสมภายใต้มาตรการสาธารณสุข
ส่วนมาตรการเปิดเรียนกรณีโรงเรียนไปกลับ ก็ยังคงเเบ่งเช่นเดียวกับโรงเรียนประจำ คือกลุ่มผู้สัมผัสเสียงต่ำ สามารถเรียนในพื้นที่สถานศึกษาตามปกติแต่ต้องมีการประเมินในระบบ Thai save Thai กลุ่มเสี่ยงสูงแบ่งเป็นกรณีไม่ได้รับวัคซีนโควิดมีอาการและไม่มีอาการแนะนำให้กักตัวเป็นเวลา 5 วันและติดตามเฝ้าระวังอีก 5 วัน
ส่วนกรณีได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้กักตัว พิจารณาให้ไปเรียนได้ มีการตรวจคัดกรองหาเชื้อทันทีหากมีอาการ ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 5 หลักสำหรับผู้ติดเชื้อและครั้งสุดท้ายวันที่ 10 ให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม แต่หากพบผู้ติดเชื้อในโรงเรียนให้พิจารณาแยกกับตัวที่บ้านหรือตามคำแนะนำของสถานบริการสาธารณสุขหรือพิจารณาจัดทำโดยเฉพาะโดยคณะกรรมการสถานศึกษาหรือหน่วยงานสาธารณสุขและคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาที่สำคัญให้จัดรูปแบบการเรียนการสอนอย่างเหมาะสมโดยเฉพาะกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ
สำหรับการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ในเดือนพฤษภาคมนี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การดูแลนักเรียนนั้น ได้หารือเบื้องต้นอาจจะต้องแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม คือ "กลุ่มที่มาโรงเรียนได้" สถานศึกษาจะต้องมีการจัดรูปแบบการเรียนการสอนตามแนวทางมาตรการสาธารณสุขที่มีการกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ เช่น การเว้นระยะห่างในการทำกิจกรรมต่างๆ
ส่วน "กลุ่มที่ไม่สามารถมาเรียนที่โรงเรียนได้" ทางโรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนแต่ละคนให้ เช่น การเรียนการสอนแบบออนไลน์ ส่วนนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ ครูจะมีแบบฝึกหัด ใบงาน เพื่อให้ไปเรียนรู้ที่บ้าน