อภัยภูเบศรแจกสูตร “ผงนัวกัญชา” เสริมรสชาติอาหารอร่อยแซ่บ!
รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรแจกสูตร “ผงนัวกัญชา” เสริมรสชาติอาหารไทยให้อร่อยแซ่บ ช่วยลดปริมาณการใช้ผงชูรส
วันนี้ ( 4 พ.ค. 65 )ผู้สื่อข่าวจ.ปราจีนบุรีรายงานว่าเภสัชกร(หญิง)ผกากรอง ขวัญข้าว ผช.ผอ.รพ.การแพทย์แผนไทยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี เปิดเผยว่าตามที่เขตสุขภาพที่ 6 กำหนดจัดงานบูรพารวมกัญ มหัศจรรย์กัญชา สร้างสุขภาพ สร้างงาน สร้างรายได้ มีการประชุมวิชาการ บูธนิทรรศการ จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ จัดคลีนิคกัญชาทางการแพทย์ ร่วมกันกับจังหวัดอื่นๆในเขต 6 ระหว่างวันที่ 6-8 พ.ค.65 นี้เวลา 09.00น.-18.00น.ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี นั้นอีกส่วนหนึ่งได้เตรียมสูตรผงนัวจากกัญชานำไปแจกจ่ายให้ได้เรียนรู้ด้วย
" ผงนัวอภัยภูเบศร"... ภูมิปัญญาการใช้เสริมรสชาติอาหารของไทย
ผงนัวก็คือผงปรุงรสที่ไม่ได้สังเคราะห์ เป็นการใช้สมุนไพรหลากหลายชนิด ต่างรสชาติมาผสมให้เกิดความลงตัว และช่วยให้อาหารอร่อยขึ้นได้ ซึ่งมีหลายสูตรด้วยกันประโยชน์ของผงนัว การใช้ผงนัวช่วยลดปริมาณการใช้ผงชูรสได้ ช่วยให้อาหารมีรสชาติกลมกล่อมมากขึ้น และ ยังได้รับประโยชน์จากสมุนไพรและผักพื้นบ้านอีกด้วย
หลักการเลือกวัตถุดิบผงนัวให้ใช้ผัก รสมันหวาน ใช้สำหรับ ต้ม ผัด หมัก แกงและย่าง ผักรสเปรี้ยว ใช้กับต้มยำ ยำ ลาบ อ่อม แจ่ว รสนี้เพิ่มผักที่มีรสเปรี้ยว ส้มป่อย ใบมะขาม ทั่วไปแล้วผงนัวประกอบด้วยพืชผักที่มีรสชาติต่างๆ กัน ทั้งเปรี้ยว หวาน เผ็ด มัน จืด ขม และอื่นๆ โดยมีสัดส่วนที่ต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ว่าจะนำไป ผัด แกง ทอด ย่าง ยำ หรืออื่นๆ ตามวิวัฒนาการการปรุงอาหาร ดังนั้น การผลิตผงนัวจึงไม่มีสูตรตายตัว
กัญชา เป็นสมุนไพรหนึ่งที่ช่วยในการเสริมรสชาติของอาหารได้ เนื่องจาก มีสารกลูตามิกแอซิด ที่จับกับตุ่มรับรสบนลิ้น ทำให้สามารถรับรสอาหารที่ดีขึ้น และช่วยให้รสอาหารกลมกล่อม มักใช้เป็นเครื่องปรุง ร่วมกับเครื่องเทศสมุนไพร ปรุงอาหารประเภท "ต้ม ยำ ตำ แกง" ช่วยเจริญอาหาร ให้เลือดลมไหลเวียนดี บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย รวมถึงอาการนอนไม่หลับ สมุนไพรที่นิยมใช้ในตำรับผงนัว เช่น ใบหม่อน ผักไชยา หอมใหญ่ กระเทียม รากผักชี หญ้าหวาน เกลือ
สูตรผงนัว
ส่วนประกอบ
1. ใบกัญชา 2.5 กรัม
2. รากผักชี 1.5 กรัม
3. กระเทียม 2 กรัม
4. พริกไทย 1 กรัม
5. หอมใหญ่ 1 กรัม
6. ใบหม่อน 2 กรัม
7. ใบไชยา 2 กรัม
8. เกลือ 2.5 กรัม
9. หญ้าหวาน 0.5 กรัม
วิธีทำ
1. เลือกใบที่ไม่แก่ไม่อ่อนจนเกินไป
2. ผสมผักพื้นบ้านในอัตราส่วนที่ต่างกันไป ผักหวานและใบหม่อน จะเป็นอัตราส่วนปริมาณมากที่สุด รองลงมาเป็นใบมะรุม น้อยสุดคือใบน้อยหน่า เนื่องจากใบน้อยหน่ามีพิษ ซึ่งคนสมัยโบราณนำใบน้อยหน้ามาฆ่าเหา ถ้ามีพิษ มีรสขมหากใส่แต่น้อยถือว่าเป็นยา
3. เพิ่มข้าวเหนียวแช่น้ำ ข้าวกล้องแช่น้ำ และข้าวเหนียวนึ่งสุก ข้าวกล้องหุงสุก นำไปตากแห้ง
เติมเกลือไอโอดีนลงไป นำส่วนประกอบทุกอย่างที่ผ่านการอบแห้งแล้ว นำมาผสมรวมกัน
วิธีใช้ : ใช้ปรุงรสอาหารตามชอบ
ข้อควรระวัง ระวังการใช้ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร ผู้ที่มีความผิดปกติของตับและไต และผู้ที่แพ้สมุนไพรในตำรับไม่ควรรับประทาน
ข้อมูลจาก : ผู้สื่อข่าวจ.ปราจีนบุรี
ภาพจาก : ผู้สื่อข่าวจ.ปราจีนบุรี