TNN ทำความรู้จัก โรคพาร์กินสัน สาเหตุเกิดจากอะไร-อาการของโรคเป็นอย่างไร

TNN

สังคม

ทำความรู้จัก โรคพาร์กินสัน สาเหตุเกิดจากอะไร-อาการของโรคเป็นอย่างไร

ทำความรู้จัก โรคพาร์กินสัน สาเหตุเกิดจากอะไร-อาการของโรคเป็นอย่างไร

11 เมษายน วันโรคพาร์กินสันโลก สาเหตุเกิดจากอะไร-อาการของโรคเป็นอย่างไร หากพบแพทย์เร็ว ช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้

โรคพาร์กินสัน 

วันนี้ (11 เม.ย.65) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคพาร์กินสันหรือโรคสั่นสันนิบาตเป็นโรคทางสมองที่เกิดจากเซลล์สมองในบางตำแหน่งมีการตายโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงทำให้สารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่า “โดพามีน” (Dopamine) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายมีการตายและลดจำนวนลง ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยเกิดอาการสั่น แขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวร่างกายช้า และสูญเสียการทรงตัว 

ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างช้า ๆ และในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ หากได้รับการวินิจฉัยโรคและรับการดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยชะลออาการของโรคและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่พบได้บ่อยในใคร

โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และจะพบได้มากขึ้นเรื่อยๆ โรคนี้พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมของกลุ่มเซลล์ประสาทในสมองไม่สามารถสร้างสารโดพามีน 

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เซลล์สมองมีการตายหรือมีจำนวนลดลง สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีผลร่วมกัน หากมีอาการบ่งชี้ของโรคพาร์กินสันควรไปพบแพทย์ เพราะหากรู้เร็วจะรักษาได้ไว และการรักษาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อาการของโรค

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการแสดงของโรคจะแสดงออกมากน้อยแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ ระยะเวลาของการเป็นโรคภาวะแทรกซ้อน อาการสำคัญของโรคพาร์กินสัน คือ อาการแต่ละอาการจะค่อยๆ ปรากฏแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที แต่อาการจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะมีอาการเกี่ยวกับระบบประสาทสั่งการ 

ซึ่งเป็นอาการหลักของโรคส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเกิดอาการสั่นที่นิ้วมือก่อน แล้วตามด้วยข้อมือและแขนในระยะแรกอาการสั่นจะเกิดขึ้นเพียงข้างเดียวก่อน แล้วต่อมาขาและเท้าอีกข้างจะเริ่มมีอาการสั่นตามมา และในที่สุดจะเกิดอาการสั่นทั่วร่างกาย 

การรักษา

สำหรับการรักษามี 3 วิธี คือ 

1.การรักษาด้วยยา จะเป็นการรักษาหลักในระยะเริ่มต้นและระยะกลางของโรค จะช่วยบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  

2.การรักษาด้วยกายภาพบำบัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ถูกต้อง แก้ไขภาวะแทรกซ้อน 

3.การรักษาด้วยการผ่าตัด โดยจะได้ผลดีกับผู้ป่วยที่อายุน้อยและมีอาการไม่มาก ผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจากยาที่ใช้มาเป็นระยะเวลานาน 



ข้อมูลจาก กรมการแพทย์

ภาพจาก AFP


ข่าวแนะนำ