TNN ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ ภายในวันที่ 11 พ.ค.นี้

TNN

สังคม

ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ ภายในวันที่ 11 พ.ค.นี้

ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ ภายในวันที่ 11 พ.ค.นี้

ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ ภายในวันที่ 11 พ.ค.นี้ พร้อมเปิดแผน จัดการเลือกตั้ง 8 ข้อ


นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4/2565 โดยมีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และผ่านระบบทางไกล  ในที่ประชุมสำนักงานปกครองและทะเบียน ได้รายงานการเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) จากจำนวนประชากรผู้อาศัยในกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 5,519,907 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค.65) แบ่งเป็นเพศชาย 2,588,027 คน เพศหญิง 2,931,880 คน มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,374,131 คน (ข้อมูลคำนวณถึงวันที่ 22 พ.ค.65) แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 1,996,104 คน เพศหญิง จำนวน 2,378,027 คน จำนวนหน่วยเลือกตั้ง 6,817 หน่วย บุคลากรที่ใช้ในการสนับสนุนการเลือกตั้ง 167,298 คน 



นอกจากนี้ สำนักงานเขตดำเนินการตามแผนการจัดการเลือกตั้ง ดังนี้ 


1.ประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง ภายในวันที่ 26 เม.ย.65 

2.ประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ภายในวันที่ 26 เม.ย.65 

3.สรรหาและแต่งตั้งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) รปภ. และอสส. ภายในวันที่ 1 พ.ค.65 

4.ส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน ภายในวันที่ 6 พ.ค.65 

5.เปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง การเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ ภายในวันที่ 11 พ.ค.65 

6.ผู้สมัครส่งหนังสือแต่งตั้งตัวแทนผู้สมัคร ภายในวันที่ 14 พ.ค.65 

7.รับแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค.65 และระหว่างวันที่ 23-29 พ.ค.65 

8.จัดอบรมเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งและส่งมอบวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้ง ภายในวันที่ 21 พ.ค.65 9.ดำเนินการจัดการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งและรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง วันที่ 22 พ.ค.65 



ทั้งนี้ การใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งในวันเดียวกัน จึงขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะจัดส่งไปให้เจ้าบ้าน หากพบว่าตนเองหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของตนไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริงให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย 


ในส่วนของการใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นเนื่องจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ถือเขตของกรุงเทพมหานครเป็น 1 เขตเลือกตั้ง และการเลือกตั้ง ส.ก.ให้ถือเขตปกครองเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งทำให้มีจำนวน 50 เขตเลือกตั้ง ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเขตเลือกตั้ง ครบ 1 ปี ดังนั้นในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หากมีการย้ายทะเบียนบ้าน มาอยู่เขตใดเขตหนึ่งใน 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ครบ 1 ปี สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ที่เขตตามที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั้น และในส่วนของการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หากย้ายจากเขตหนึ่งไปอยู่อีกเขตหนึ่งไม่ถึง 1 ปี จะไม่มีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ก. ที่เขตใหม่ จะมีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ก. ณ หน่วยเลือกตั้งตามทะเบียนบ้านเดิม ในกรณีนี้อาจทำให้การเลือกตั้งทั้ง 2 หีบ มีจำนวนบัตรลงคะแนนไม่เท่ากันได้ 


ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 31 คน ส่วนผลการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 50 เขต รวมจำนวน 382 คน โดยสำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก. มากที่สุด ได้แก่ เขตดุสิต และเขตสวนหลวง จำนวน 10 คน สำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก. น้อยที่สุด จำนวน 8 เขต ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ เขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม เขตบางพลัด เขตดินแดง เขตบางซื่อ และเขตคันนายาว โดยมีผู้สมัคร จำนวน 6 คน ขอเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิ ในวันที่ 22 พ.ค.65 เวลา 08.00-17.00 น. และหากไม่ไปใช้สิทธิ ต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก่อนและหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน คือ ก่อนวันเลือกตั้งระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค.65 และหลังวันเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 23-29 พ.ค.65



ข้อมูล : กทม.
ภาพ : TNNONLINE


ข่าวแนะนำ