เปิดหลักเกณฑ์ ติดป้ายหาเสียง เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ติดผิดอาจถูกลงโทษทางอาญา
กกต. ย้ำ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ต้องไม่ติดป้ายหาเสียงกีดขวางทางสัญจร เพราะอาจถูกลงโทษทางอาญา
.
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรายใดถูกร้องเรียนเรื่องการกระทำความผิด พร้อมย้ำว่าผู้สมัครทุกคนต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยวิธีการและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงอย่างเคร่งครัด โดยหากมีการติดป้ายหาเสียงกีดขวางการสัญจร เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถสั่งให้ผู้สมัครดำเนินย้ายทันที หรืออาจทำการรื้อถอนเองได้เลย แต่หากผู้สมัครจงใจฝ่าฝืนกระทำความผิด จะมีโทษความผิดทางอาญาด้วย
สำหรับประเด็นเรื่องป้ายหาเสียงที่มีเสียงวิจารณ์เกิดขึ้นขณะนี้ นายสกลธี ภัททิยกุล กล่าวว่า ได้เร่งแก้ไขป้ายที่มีปัญหาแล้ว และขอโทษประชาชนที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกในบางพื้นที่ ขณะเดียวกันพบว่ามีป้ายหาเสียงของตนเองถูกทำลายในหลายเขต จึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแข่งขันทางการเมืองในรูปแบบใหม่ ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีป้ายหาเสียงถูกทำลาย แต่จะไม่แจ้งความดำเนินคดีหรือสืบหาต้นตอของคนที่กระทำ
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เชื่อว่า ผู้สมัครทุกคนไม่ได้มีเจตนาที่จะติดป้ายให้กระทบกับประชาชน แต่ในยุคที่กระแสโซเชียลมาแรง ทำให้ผู้สมัครต้องระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งทุกครั้งที่ตนเองลงพื้นที่พบปะประชาชนพบเห็นป้ายที่ไม่เหมาะสมจะสั่งให้แก้ไขทันทีและเร็วๆ นี้ จะมีป้ายที่ทันสมัยมากขึ้นมาติดแนะนำตัวกับประชาชน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยืนยันว่า ไม่เคยระบุว่าตนเองเป็นผู้ทำป้ายขนาดเล็กเป็นคนแรก แต่เล็งเห็นถึงความเหมาะสมในการติดป้ายหาเสียงในกรุงเทพมหานคร จึงปรับให้เข้ากับพื้นที่ ซึ่งใครจะทำมาก่อนหรือจะมีผู้สมัครอื่นๆ ทำลักษณะเดียวกันก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะป้ายหาเสียงไม่ได้สำคัญเท่าเนื้อหาและนโยบายของผู้สมัคร
ส่วนนางสาวรสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า เสียงสะท้อนของประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจการติดป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ดังนั้นตนเองจะไม่ขอติดป้ายในพื้นที่สาธารณะ แต่จะพูดคุยกับเอกชนเพื่อขอติดในพื้นที่ของเอกชนแทน โดยจะเริ่มติดป้ายและลงพื้นที่หาเสียงอย่างจริงจังในวันที่ 7 เม.ย.นี้
ระเบียบติดป้ายหาเสียงผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.
1. ให้ผู้สมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ณ สถานที่ที่หน่วยงานกำหนด จำนวน ดังนี้
ประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง จัดทำได้ไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง
แผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งไม่เกิน 5 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง
2. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง และติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ดังนี้
จัดทำและปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง มีขนาดความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 42 เซนติเมตร
จัดทำและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง มีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร
3. สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียง ให้ปิดประกาศในสถานที่ดังต่อไปนี้
บริเวณป้ายปิดประกาศของสำนักงานเขตปกครอง
บริเวณป้ายปิดประกาศของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
บริเวณป้ายปิดประกาศของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร
วิธีการปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครปิดประกาศตามที่หัวหน้าหน่วยงานกำหนด โดยปิดประกาศได้สถานที่ละ 1 แผ่น เท่านั้น
ให้ผู้สมัครที่ประสงค์จะปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง แจ้งขอปิดประกาศต่อหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายของสถานที่นั้น ๆ
4. สถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งต้องคำนึงถึงความเหมาะสม เป็นระเบียบ สะอาด ปลอดภัย แข็งแรง มีทัศนียภาพและทัศนวิสัยที่ดี ไม่เกิดอันตรายแก่ประชาชนหรือต่อยานพาหนะ
รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการหรือประชาชน และจะต้องไม่เป็นการกีดขวางทางสัญจร การจราจร และต้องไม่ติดทับซ้อนกับแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครรายอื่น
ป้ายหาเสียงห้ามอยู่ในบริเวณใดบ้าง
สำหรับพื้นที่หรือบริเวณที่ห้ามปิดป้ายหาเสียง ประกอบด้วย
ผิวการจราจร
เกาะกลางถนน
สะพานลอยเดินข้าม
สะพานลอยรถข้าม รวมทั้งส่วนประกอบของสะพาน รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร
ป้ายประกาศของทางราชการ
รั้วหรือกำแพงหรือผนังอาคารของทางราชการ
ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน ในส่วนของเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่การไฟฟ้านครหลวงกำหนด
ศาลาที่พักผู้โดยสารและบริเวณโดยรอบภายในระยะ 10 เมตร
ตู้โทรศัพท์
ตู้ไปรษณีย์
อนุสาวรีย์
ป้อมตำรวจ
สุขาสาธารณะ
สนามหลวง
สวนหย่อม
สวนสาธรณะ
วงเวียนทุกวงเวียน
ถนนโดยรอบพระบรมมหาราชวัง
ถนนโดยรอบพระราชวังสวนจิตรลดา
ลานพระบรมรูปทรงม้า
ถนนราชดำเนินนอก
ถนนราชดำเนินกลาง
ถนนราชดำเนินใน
กรณีกำหนดเป็นถนนให้หมายความรวมถึงซอยที่แยกจากถนนด้วย สำหรับการติดประกาศในซอยจะต้องมีระยะห่างจากปากซอยไม่น้อยกว่า 10 เมตร
5. ห้ามมิให้ผู้สมัครปิดประกาศ หรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งนอกพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ตนสมัคร
หากผู้สมัครทำผิดกฎตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2563 ข้อ 19 และตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครฉบับนี้กำหนด
ให้หัวหน้าหน่วยงาน หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจสั่งผู้สมัครให้แก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด และหากไม่ดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ผู้มีอำนาจข้างต้นมีอำนาจรื้อถอน ทำลาย ปลดออก ปกปิด หรือลบข้อความ ภาพ หรือรูปรอยดังกล่าว หรือสั่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ
โดยให้คิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัครนั้น และคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจนำมาเป็นเหตุในการสืบสวนหรือไต่สวนตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดได้
นอกจากนี้ ผู้สมัครสามารถดำเนินการหาเสียงเลือกตั้ง โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ยูทูป แอปพลิเคชั่น อีเมล์ SMS หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่นๆ ได้จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง หรือเวลา 18.00 น. วันที่ 21 พฤษภาคม 2565
ในส่วนของการดำเนินการเลือกตั้งภายหลังการปิคการรับสมัคร คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร จะเริ่มเข้ามามีบทบาท ในการกำกับ ดูแล ให้การเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ตามมาตรา 27 ได้แก่
1. เสนอแนะและให้ความเห็นชอบ การกำหนดหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง การแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.หน่วยละ 9 คน) รวมทั้งการอบรม
2. การตรวจสอบและให้ความเห็นชอบ บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเพิ่มถอนชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่นายทะเบียนเสนอ
3. กำกับ ดูแล และอำนวยการ การลงคะแนนเลือกตั้ง การนับคะแนน การประกาศผลการนับคะแนนของที่เลือกตั้ง
4. การกำหนดสถานที่รวบรวมผลคะแนน และการรวบรวมผลคะแนนจากทุกหน่วยเลือกตั้ง และรายงานผลการนับคะแนนต่อผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร
และ 5. ปฏิบัติการอื่น ๆ ตามที่กฎหมายเลือกตั้งหรือกฎหมายอื่นกำหนดไว้ หรือตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ระดับชาติ) มอบหมายในการปฏิบัติงานดังกล่าว คณะกรรมการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร มีอำนาจในการแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคล ช่วยปฏิบัติงานได้ตามสมควร
ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเริ่มปฏิบัติงาน ตั้งแต่มีประกาศให้มีการเลือกตั้ง และสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้ง แต่หากมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง การเลือกตั้งใหม่ การนับคะแนนใหม่ การยุบสภากรุงเทพมหานคร ให้คณะกรรมการชุดหลังสุดปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ต้องมีการสรรหาใหม่
ข้อมูล : ประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร
ภาพ TNNONLINE