อย.ไขข้อข้องใจ "กลืนหมากฝรั่ง" เสี่ยงพันลำไส้ จริงหรือ?
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ตอบประเด็น การกลืนหมากฝรั่งลงท้อง จะทำให้หมากฝรั่งพันลำไส้ เป็นเรื่องนี้จะจริงหรือไม่
วันนี้ (6 เม.ย.65) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ความรู้เกี่ยวกับ "การกลืนหมากฝรั่ง" จะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า หากกลืนหมากฝรั่ง จะทำให้หมากฝรั่งพันลำไส้ ทำให้หลาย ๆ คนกลัวการเคี้ยวหมากฝรั่ง ความจริงแล้วจะเป็นเช่นไรวันนี้เรามีคำตอบ
หมากฝรั่ง มีส่วนประกอบหลัก ได้แก่
1. สารที่อยู่ในกลุ่มของยางสังเคราะห์ (Polyisobutylene)
2. สารให้ความหวาน เช่น น้ำตาล ไซลิทอล (Xylitol) และ ซอร์บิทอล (Sorbitol)
3. สารแต่งกลิ่น (Flavoring agents)
4. สารกันเสีย (Preservatives)
โดยหากเราเผลอกลืนหมากฝรั่งลงไป ก็อย่าตกใจไป เพราะความจริงแล้วการกลืนหมากฝรั่งก็คล้ายกับการกลืนอาหารธรรมดาทั่วไป
หมากฝรั่งนั้นมีส่วนผสมที่ทำมาจาก สารที่อยู่ในกลุ่มของยางสังเคราะห์ (Polyisobutylene) ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายด้วยน้ำย่อยในร่างกายได้ แต่หมากฝรั่งก็ไม่สามารถไปพันลำไส้ได้อย่างที่ใครหลาย ๆ คนบอก
เพราะเมื่อหมากฝรั่งถูกกลืนลงไปแล้ว หมากฝรั่งจะค่อย ๆ เคลื่อนลงไปตามลำไส้ใหญ่และถูกขับถ่ายออกมาในรูปของอุจจาระ
จะเห็นได้ว่าการกลืนหมากฝรั่งนั้นไม่ได้อันตรายอย่างที่ใครหลาย ๆ คนคิด แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ โดยเฉพาะในเด็กเล็กควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง เพราะอาจทำให้เผลอกลืนหมากฝรั่งลงไปได้ และเสี่ยงที่หมากฝรั่งจะติดคอได้อีกด้วย.
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP