หายใจไม่เต็มปอดเสี่ยง “ภาวะหัวใจวาย” เป็นข้อมูลบิดเบือน!
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมชี้แจงข้อมูลการหายใจไม่เต็มปอดอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย เป็นการบิดเบือนข้อมูล
วันนี้ ( 10 ก.พ. 65 )ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย เผยแพร่ข้อมูลระบุว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวประเด็นเรื่อง ภาวะหัวใจวายเกิดขึ้นได้ ถ้าหายใจไม่เต็มปอด ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
กรณีที่มีการเผยแพร่บทความในอินเทอร์เน็ต ระบุว่าการหายใจไม่เต็มปอด หมายถึง อาการหายใจลำบาก หายใจสั้น ๆ มีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ เช่น การสำลัก โรคปอด โรคหอบหืด หัวใจวาย ความวิตกกังวล อาการหายใจไม่เต็มปอดอาจทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จนทำให้รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ออก และแน่นหน้าอก
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นทางสถาบันโรคทรวงอก ชี้แจงว่า อาการการหายใจไม่เต็มปอด เป็นอาการที่ไม่ได้มีความจำเพาะกับภาวะหรือโรคใดโรคหนึ่งเป็นพิเศษ อาจจะเกิดจากโรคระบบการหายใจ, โรคหัวใจและหลอดเลือด, อาการแพ้แบบรุนแรง และภาวะเครียดเป็นต้น ซึ่งในบทความได้อธิบายแยกอาการแต่ละภาวะได้ชัดเจน
ส่วนภาวะหัวใจวายหรือภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างพอเพียง ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย, มีอาการบวมน้ำ กดบุ๋มที่หน้าแข้งซึ่งเกิดจากภาวะคั่งของเกลือและน้ำ, เหนื่อย หายใจไม่อิ่มหรือหายใจไม่เต็มปอด หายใจไม่สะดวก นอนราบไม่ได้ ซึ่งเกิดจากการคั่งของน้ำในปอด ซึ่งถ้ามีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยและหาสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจวายหรือภาวะหัวใจล้มเหลว และให้การรักษาที่ถูกต้อง
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันโรคทรวงอก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.ccit.go.th หรือโทร. 02 547 0999
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : บทความข้างต้นนั้นส่วนใหญ่เชื่อถือได้ แต่ไม่ควรสรุปว่าอาการหายใจไม่เต็มปอดเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจวาย เพราะอาการดังกล่าวไม่ได้มีความจำเพาะกับภาวะหรือโรคใดโรคหนึ่งเป็นพิเศษ และอาจจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดได้
ภาพจาก : AFP