กรมอนามัย เช็ก 5 สัญญาณเสี่ยง โรคออฟฟิศซินโดรม พร้อมแนะวิธีป้องกัน
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึง 5 สัญญาณเสี่ยง โรคออฟฟิศซินโดรม พร้อมแนะนำวิธีป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการป่วย
วันนี้ (26 ม.ค.65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันหลายบริษัทรวมทั้งราชการได้เปิดให้พนักงาน Work From Home มากขึ้น เพื่อป้องการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 แต่รู้หรือไม่ว่า การนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน โดยที่ไม่ขยับไปไหน อาจเกิดอาการปวดเมื่อยร่างกาย ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคออฟฟิสซินโดรมได้
ล่าสุด กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึง 5 สัญญาณเสี่ยง โรคออฟฟิศซินโดรม โดยมีดังนี้
1) ปวดหลังเรื้อรัง จากการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
2) ปวดศีรษะเรื้อรัง
3) นอนไม่หลับ จากการสะสมจากความเครียด
4) มือชา
5) นิ้วล็อก เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ การจับเมาส์ในท่าเดิมนาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ
สำหรับวิธีการป้องกันหรือเลี่ยงอาการออฟฟิศซินโดรม ได้แก่
- ปรับความสูงของเก้าอี้ให้เหมาะสม นั่งสบาย หากใช้คอมพิวเตอร์ กึ่งกลางของจอควรอยู่ในระดับสายตาการพิมพ์งาน แป้นคีย์บอร์ดควรอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ
- ปลูกต้นไม้ในร่ม ช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตา จากการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์
- ขณะนั่งทำงาน ควรนั่งหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้ พักสายตาทุก 10 นาที เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขน ทุก 1 ชั่วโมง
ข้อมูลจาก กรมอนามัย
ภาพจาก AFP