TNN กางกฎหมายขับรถอย่างไรให้ปลอดภัย เมื่อเจอคนกำลังจะข้าม "ทางม้าลาย"

TNN

สังคม

กางกฎหมายขับรถอย่างไรให้ปลอดภัย เมื่อเจอคนกำลังจะข้าม "ทางม้าลาย"

กางกฎหมายขับรถอย่างไรให้ปลอดภัย เมื่อเจอคนกำลังจะข้าม ทางม้าลาย

ยกเคส "หมอกระต่าย" ประสบอุบัติเหตุถูกรถบิ๊กไบค์ชนจนเสียชีวิต กางกฎหมายขับรถอย่างไรให้ปลอดภัย เมื่อเจอคนกำลังจะข้ามทางม้าลาย

จากกรณีโลกสังคมออนไลน์ ได้แสดงความอาลัยให้กับ “หมอกระต่าย” พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เสียชีวิตหลังจากถูกรถบิ๊กไบค์ชนขณะข้ามทางม้าลาย บริเวณหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก Smith Fa Srisont ของ ผศ. นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ภาพและข้อความแสดงความอาลัยให้กับ “หมอกระต่าย” โดยระบุข้อความว่า 

"ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของน้องกระต่าย และเพื่อนร่วมรุ่นรามาธิบดี 42 ครับการที่คนรู้จักเสียชีวิตกะทันหันเป็นอะไรที่ใจหายมาก เคยประสบกับตัวเองมาครั้งหนึ่ง ตอนเพื่อนร่วมรุ่นรามาฯเสียชีวิต ตอนนั้นก็รู้สึกเสียใจมาก ตอนนั้นก็ทำใจโดยจดจำสิ่งดีๆ ที่เพื่อนคนนั้นได้ทำไว้ และพร้อมที่จะทำสิ่งดีๆ ต่างให้สังคมเหมือนที่เพื่อนคนนั้นเคยทำ

ส่วนเหตุการณ์นี้ ได้สิ่งที่อยากทำในอนาคตอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามีโอกาสได้เข้าไปเกี่ยวกับกฎหมายจราจรในไทย ก็อยากผลักดันให้ทางม้าลายในไทยเป็นทางม้าลายจริงๆ ให้คนขับรถต้องหยุดให้ข้ามจริงๆ เหมือนญี่ปุ่น ไม่ใช่แบบนี้เลย ที่ทำให้อนาคตคนดีๆคนหนึ่งต้องเสียไป"

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าว สังคมออนไลน์มีการเรียกร้องให้ทุกคนให้ความสำคัญกับ "ทางม้าลาย" เนื่องจากที่ผ่านมามีข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับคนข้ามทางม้าลายหลายครั้งด้วยกัน

กางกฎหมายขับรถอย่างไรให้ปลอดภัย เมื่อเจอคนกำลังจะข้าม ทางม้าลาย


ข้อมูลจากพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้ระบุไว้ว่า  “ทางข้าม” หมายความว่า พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับให้คนเดินเท้าข้ามทาง โดยทำเครื่องหมายบนเส้นหรือแนวหรือตอกหมุดไว้บนทาง และให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่ทำให้คนเดินเท้าข้ามไม่ว่า ในระดับใต้หรือเหนือพื้นดินด้วย

“เขตปลอดภัย” หมายความว่า พื้นที่ในทางเดินรถที่มีเครื่องหมายแสดงไว้ให้เห็นได้ชัดเจนทุกเวลา สำหรับให้คนเดินเท้าที่ข้ามทางหยุดรอหรือให้คนที่ขึ้นหรือลงรถหยดรอก่อนจะข้ามทางต่อไป

มาตรา 21 ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้หรือทำให้ปรากฎในทาง ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาตรา 32 ระบุว่า ในการใช้ทางเดินรถผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้รถชนหรือโดนคนเดินเท้าไม่ว่าจะอยู่ ณ ส่วนใดของทางและต้องให้สัญญาณเตือนคนเดินเท้าให้รู้ตัวเมื่อจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก คนชรา หรือคนพิการที่กำลังใช้ทาง ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการควบคุมรถของตน

มาตรา 46 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นภายในระยะสามสิบเมตรก่อนถึงทางข้าม ทางร่วมทางแยกวงเวียน หรือเกาะที่สร้างไว้หรือทางเดินรถที่ตัดข้ามทางรถไฟ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท

มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถในทางข้าม หรือในระยะสามเมตรจากทางข้าม ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา 70 ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้ามเส้นให้รถหยุดหรือวงเวียนต้องลดความเร็วของรถ

มาตรา 105 คนเดินเท้าซึ่งประสงค์จะข้ามทางเดินรถในทางข้ามที่มีไฟสัญญาณจราจรควบคุมคนเดินเท้า ปฏิบัติตามไฟสัญญาณจราจรที่ปรากฏต่อหน้าดังต่อไปนี้

1. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีแดงไม่ว่า จะมีรูปหรือข้อความเป็นการห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้คนเดินเท้าหยุดรออยู่บนทางเท้า บนเกาะแบ่งทางเดินรถหรือในเขตปลอดภัย เว้นแต่ทางใด

ที่ไม่มีทางเท้า ให้หยดรอบนไหล่ทางหรือขอบทาง

2. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียวไม่ว่า จะมีรูปหรือข้อความเป็นการอนุญาตให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถได้

3. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียวกระพริบทางด้านใดของทางให้คนเดินเท้าที่ยังมิได้ข้ามทางเดินรถหยุดรอบนทางเท้า บนเกาะแบ่งทางเดินรถหรือในเขตปลอดภัย แต่ถ้ากำลังข้ามทางเดินรถให้ข้ามทางเดินรถโดยเร็ว

มาตรา 106 คนเดินเท้าซึ่งประสงค์จะข้ามทางเดินรถในทางข้ามทางเดินรถในทางข้ามหรือทางร่วมทางแยกที่มีสัญญาณจราจรควบคุมการใช้ทางให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีแดงให้รถหยุดทางด้านใดของทางให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถตามที่รถหยุด และต้องข้ามทางเดินรถภายในทางข้าม

2. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียวให้รถผ่านทางด้านใดของทาง ห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้านนั้น

3. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเลืองอําพันหรือไฟสีเขียวกระพริบทางด้านใดของทาง ให้คนเดินเท้าที่ยังมิได้ข้ามทางเดินรถหยุด รอบนทางเท้าบนเกาะแบ่งทางเดินรถ หรือในเขตปลอดภัย แต่ถ้ากำลังข้ามทางเดินรถอยู่ในทางข้าม ให้ข้ามทางเดินรถโดยเร็ว



ข้อมูลจาก พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 

ภาพจาก TNN ONLINE



ข่าวแนะนำ