ม.เชียงใหม่สุดเจ๋ง!พัฒนา CMUGency เหมือนมีหมอนั่งมาด้วยในรถฉุกเฉิน
มช. พัฒนาแพลตฟอร์ม CMUGency เครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐานในรถฉุกเฉิน เสมือนมีแพทย์อยู่ในรถพยาบาล
เวลาและความรวดเร็วถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้เจ็บป่วยจะเสียโอกาสในการอยู่รอดชีวีตในทุกนาทีที่ผ่านไป โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ป่วยขณะเคลื่อนย้ายมายังโรงพยาบาล ด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็นบวกกับพื้นที่การเข้าถึง ทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเกิดความยากลำบากมากยิ่งขึ้น การนำเทคโนโลยีสื่อสารมาช่วยตอบโจทย์ทางการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัว เครื่องวัดสัญญาณชีพ CMUGency ที่สามารถวัดสัญญาณคลื่นหัวใจ 12 จุด วัดความดันเลือด วัดออกซิเจนในเลือด และอัตราการเต้นของหัวใจ ในเครื่องเดียว ซึ่งจะนำมาใช้ในรถฉุกเฉิน ประเมินอาการผู้ป่วยระหว่างนำส่ง เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลคนไข้ตั้งแต่อยู่ในรถฉุกเฉินกับทีมแพทย์ที่เตรียมพร้อมรอรับอยู่ที่โรงพยาบาล
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และ โรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมคิดค้น พัฒนาเครื่องวัดสัญญาณชีพจรพื้นฐานพร้อมการสื่อสารไร้สาย (CMUGency) ด้วยเหตุเพราะเครื่องวัดสัญญาณชีพจรพื้นฐาน เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ความเข้มข้นของออกซิเจน อุปกรณ์สำคัญในระบบบริการแพทย์ฉุกเฉิน สัญญาณชีพจรเหล่านี้ มีผลต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยระหว่างการเดินทางมายังโรงพยาบาลเป็นอย่างมาก โดยเครื่องจะสามารถวัดสัญญาณชีพจรพื้นฐานให้แสดงผลกับบุคลากรผู้ช่วยเหลือบนรถฉุกเฉิน พร้อมส่งสัญญาณชีพจร แจ้งพิกัดของรถฉุกเฉินผ่านระบบสื่อสารไร้สาย โดยใช้ระบบสัญญาณจากโทรศัพท์มือถือ ส่งสัญญาณโดยตรงให้บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลปลายทางให้สามารถตรวจสอบชีพจรได้แบบ Real-time พร้อมทั้งได้พัฒนาแอปพลิเคชัน CMUGency ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภทตามผู้ใช้งาน โดยผู้ป่วยหรือผู้ประสบเหตุ สามารถเรียกรถฉุกเฉินได้ทันที ด้านศูนย์ประสานงานจะสามารถตรวจสอบพิกัดของผู้ป่วยและรถฉุกเฉินได้ อีกทั้งยังเลือกรถฉุกเฉินที่เหมาะสมไปรับและดูแลผู้ป่วย ทางด้านรถฉุกเฉิน บุคลากรบนรถสามารถติดต่อกับศูนย์ประสานงาน ตรวจสอบตำแหน่งของรถฉุกเฉินและผู้ป่วยได้ สำหรับบุคลากรโรงพยาบาลปลายทางสามารถตรวจสอบตำแหน่งของรถฉุกเฉินพร้อมตรวจสอบสัญญาณชีพจรได้ทุกช่วงเวลา
จากการพัฒนาเครื่องวัดชีพจรตลอดระยะเวลา 2 ปี ได้มีการนำไปใช้งานจริงในโรงพยาบาลหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลสันทราย โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลเชียงดาว โรงพยาบาลแม่แตง โรงพยาบาลสะเมิง โรงพยาบาลเวียงแหง โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา และโรงพยาบาลพร้าว การคิดค้นอุปกรณ์ชิ้นนี้ทำให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินงาน ลดการสูญเสีย เพิ่มโอกาสในการรอดของชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงไม่หยุดยั้งที่จะคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบ เสมือนสร้างสมองของแพทย์ให้อยู่ในรถพยาบาลทุกคัน และให้แพทย์ฉุกเฉินหนึ่งคนสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น ตลอดจนเป็นการยกระดับการบริการให้เทียบเท่าในระดับสากล
ข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพจาก : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่