TNN เปิดข้อมูล โรคท้องเสีย "โนโรไวรัส" กำลังระบาดอย่างมากในภาคตะวันออกของไทย

TNN

สังคม

เปิดข้อมูล โรคท้องเสีย "โนโรไวรัส" กำลังระบาดอย่างมากในภาคตะวันออกของไทย

เปิดข้อมูล โรคท้องเสีย โนโรไวรัส กำลังระบาดอย่างมากในภาคตะวันออกของไทย

โรคท้องเสีย "โนโรไวรัส" กำลังระบาดอย่างมากในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและภาคตะวันออก อาการจะคล้ายกับอาหารเป็นพิษมาก ทำให้เกิดท้องเสีย อาเจียนและปวดท้อง

แฟ้มภาพ

วันนี้ (9 ม.ค.65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan” โดยระบุว่า  

โรคท้องเสีย โนโรไวรัส กำลังระบาดอย่างมากในภาคตะวันออก

ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต 9 มกราคม 2565

วันนี้ขอเปลี่ยนเรื่องจากโควิด 19 มาเป็นโรคอุจจาระร่วง โนโรไวรัสที่กำลังระบาดในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและภาคตะวันออก ตั้งแต่ช่วงใกล้ปีใหม่ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน 

ไวรัสนี้ทำให้เกิดท้องเสีย อาเจียนและ ปวดท้อง บางรายอาจจะมีไข้เป็นอยู่ 1 ถึง 3 วันอาการจะคล้ายกับอาหารเป็นพิษมาก ทำให้เข้าใจว่า อาหารเป็นพิษ 

พบได้ในทุกวัย และติดต่อกันได้ง่าย บางครั้งป่วยพร้อมกันทั้งครอบครัว หรือระบาดในโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก 

ทางศูนย์ของเราได้ตัวอย่างส่งตรวจมา จากกรมควบคุมโรค เพื่อตรวจหาเชื้อโนโรไวรัส  ได้ถอดรหัสพันธุกรรม พบว่าเป็นเชื้อโนโรไวรัสสายพันธุ์ GII.3[P25] ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ค่อย มีการรายงาน ในครั้งนี้เราพบการระบาดเป็นวงกว้าง การวิเคราะห์ ทางพันธุกรรม มีความใกล้เคียงกับ GII.3[P25] ที่พบในเมือง Huzhou (หูโจว) ประเทศจีน เมื่อเดือนมีนาคมในปี 2021 และ ทางศูนย์เรา ได้เคยตรวจพบ recombinant strain ดังกล่าว (MK590956) เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2018 จากผู้ป่วยท้องเสียในเขตกรุงเทพมหานคร ดังแสดงในรูปทั้งสอง 

โรคนี้พบได้บ่อยในฤดูหนาว ในบางปีจะมีการระบาดเป็นวงกว้าง 

การระบาดครั้งนี้มีผู้ป่วยจำนวนมาก และมักจะเข้าใจผิดว่าอาหารเป็นพิษ ไวรัสนี้ไม่มีเปลือกหุ้มจึงมีความคงทนในสิ่งแวดล้อมมากและทนต่อน้ำยาฆ่าเชื้อเช่น แอลกอฮอล์ สารที่จะใช้ทำลายเชื้อได้ดีคือน้ำยาที่มีส่วนประกอบของคลอรีน เช่น คลอรอกซ์ (น้ำยาล้างห้องน้ำ) 

ดังนั้นในการฆ่าเชื้อเช่นผ้าอ้อมเด็กที่ใช้แล้วทิ้ง ที่ปนเปื้อนอุจจาระเด็กท้องเสีย ก่อนทิ้งให้หยดน้ำยาล้างห้องน้ำลงไปทำลายเชื้อเสียก่อน แล้วค่อยม้วนทิ้งเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไป



ข้อมูลจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ