เปิดแผนจัดเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กทม. เขต 9 ผู้มีสิทธิกว่า 1.7 แสนคน
กรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 9 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 170,764 คน
วันนี้ (2 ม.ค. 65) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง ว่า พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้แล้ว และคาดว่าจะมีการกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 30 ม.ค. 65 เป็นวันเลือกตั้ง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครแทนตำแหน่งที่ว่าง กรุงเทพมหานคร
โดยสำนักงานปกครองและทะเบียนได้ประสานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) สำนักงานเขตหลักสี่ และสำนักงานเขตจตุจักร ตรวจสอบสถานะคณะกรรมการการเลือกตั้งและผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 ที่เคยได้รับการแต่งตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค. 62 ว่า ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 9 หรือไม่ หรือมีความพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหรือไม่
ทั้งนี้ ให้พิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งและผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้พิจารณาเสนอรายชื่อเพื่อแต่งตั้ง ดังนี้
1. นายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ
2. นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตจตุจักร เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ
3. นายอัมรินทร์ จารุตามระ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตหลักสี่ เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ
4. นางสมฤดี ลันสุชีพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตหลักสี่ เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งฯ
ซึ่ง กกต. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งและผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแล้ว ตามคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ 524/2564 ลงวันที่ 30 ธ.ค. 64 พร้อมกันนี้ได้ประสานสำนักงานเขตหลักสี่และสำนักงานเขตจตุจักร สำรวจจำนวนหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง และจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หน่วยละประมาณ 600 คน ไม่เกิน 800 คน ซึ่งหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง(อาคาร/เต็นท์) เขตเลือกตั้งที่ 9 มีหน่วยเลือกตั้ง 280 หน่วย เป็นอาคาร 114 หน่วย เป็นเต็นท์ 166 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 170,764 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธ.ค. 64)
แยกเป็น เขตหลักสี่ 122 หน่วย เป็นอาคาร 57 หน่วย เป็นเต็นท์ 65 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 86,544 คน และเขตจตุจักร 158 หน่วย เป็นอาคาร 57 หน่วย เป็นเต็นท์ 101 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 84,220 คน รวมทั้งประสานแจ้งศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 1 กรุงเทพมหานคร สนับสนุนการเปิดโปรแกรมประมวลผลการกำหนดหน่วยเลือกตั้งและพิมพ์บัญชีรายชื่อผู้มี สิทธิเลือกตั้ง รวมถึงแนวทางการแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน./รปภ./อสส.) ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเป็นผู้แต่งตั้ง ดังนี้
1. แต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งละ 5 คน
2. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำที่เลือกตั้ง จากตำรวจหรืออาสารักษาดินแดนหรือทหารในพื้นที่ ที่เลือกตั้งละ 1 คน
3. แต่งตั้งผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานเลือกตั้งในการคัดกรองโรคประจำที่เลือกตั้ง จากอาสาสมัครสาธารณสุข อย่างน้อยที่เลือกตั้งละ 1 คน
4. กรณีหน่วยเลือกตั้งใดมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 800 คน ให้เพิ่ม กปน. อีก 1 คน ทุกผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้น 100 คน 5. แต่งตั้ง กปน. สำรอง ร้อยละ 10 ของจำนวนหน่วยเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ได้ประสานสำนักงานเขตหลักสี่และสำนักงานเขตจตุจักร เตรียมความพร้อมในการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในด้านสถานที่ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และซักซ้อมกระบวนการในการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งจัดทำร่างแผนดำเนินการเลือกตั้งฯ และคำสั่งจัดตั้งศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งจัดเตรียมการประชุมคณะกรรมการศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร
โดยในลำดับต่อไป กกต. จะประชุมเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา 2 ฉบับ คือ
1. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัครรับเลือกตั้ง
2. การสมัคร เอกสาร หลักฐาน ค่าธรรมเนียมการสมัครฯ จากนั้น ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง (ผอ.กต.) เขต 9 จะประกาศกำหนดสถานที่รับสมัครต่อไป
ภาพจาก AFP