TNN รมว.ดีอี เปิดข้อมูลรอบปี แชร์ข่าวปลอม 23 ล้านคน และโพสต์ข่าวปลอมกว่า 1.1 ล้านคน

TNN

สังคม

รมว.ดีอี เปิดข้อมูลรอบปี แชร์ข่าวปลอม 23 ล้านคน และโพสต์ข่าวปลอมกว่า 1.1 ล้านคน

รมว.ดีอี เปิดข้อมูลรอบปี แชร์ข่าวปลอม 23 ล้านคน และโพสต์ข่าวปลอมกว่า 1.1 ล้านคน

“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส เปิดสถิติเชิงลึกจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบยอดสะสมจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอมมากกว่า 23 ล้านคน พบอายุ 18-24 ปี เป็นผู้โพสต์และแชร์ข่าวปลอม มากที่สุด พร้อมขอบคุณสื่อมวลชน ที่รณรงค์ช่วยต่อต้านข่าวปลอม

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากการติดตามข่าวสาร และการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมวันที่ 1 พ.ย 62 ถึง 23 ธ.ค 64 มีจำนวน ผู้โพสต์ข่าวปลอม 1,167,543 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 23,785,145 คน โดยช่วงอายุของผู้โพสต์และแชร์มากที่สุด คือ อายุ 18-24 ปี คิดเป็นสัดส่วน 54.5% ขณะที่อายุ 55-64 ปี มีพฤติกรรมแพร่กระจายข่าวปลอมต่ำสุด คิดเป็น 0.1% 


สำหรับกลุ่มอาชีพที่สนใจประเด็นข่าวปลอมมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผู้สื่อข่าว คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 16.7% เนื่องมาจากเป็นกลุ่มอาชีพที่ประชาชนให้ความสนใจ และเกิดเชื่อถือในการเผยแพร่มากที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มผู้จัดการ/ผู้บริหาร 9.3% และผู้ประกอบกิจการต่างๆ 8% 


ขณะที่ กลุ่มอาชีพของผู้แชร์ข่าวที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอมมากที่สุด 3 อ้นดับแรก ได้แก่ กลุ่มอาชีพคุณครู อาจารย์ 14.0% ตามมาด้วย กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มอาชีพช่างภาพ 9.4% และกลุ่มอาชีพวิศวกร 7.0%


สำหรับภาพรวมผลการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (วันที่ 1 พ.ย. 62 – 23 ธ.ค. 2564) มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรอง 455,121,428 ข้อความ หลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 13,262 เรื่อง แบ่งเป็น โดยหมวดหมู่สุขภาพ 6,855 เรื่อง ตามมาด้วย หมวดหมู่นโยบายรัฐ 5,865 เรื่อง  หมวดหมู่เศรษฐกิจ 282 เรื่อง และหมวดหมู่ภัยพิบัติ 260 เรื่อง

 

ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เริ่มจัดเก็บข้อมูลการเปรียบเทียบ Trend ของหมวดหมู่ข่าวทั้ง 4 หมวด โดยระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 63 - 23 ธ.ค. 64 พบว่า หมวดนโยบาย มีแนวโน้มสูงสุด มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 53,017 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 46.77% โดยพบว่าข่าวปลอมสูง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายออกมาเพื่อเยียวยาให้กับประชาชน มียอดการพูด การสนทนา การโพสต์ บทความ ถึงนโยบายเยียวยา การแชร์ข้อมูลความถี่สูงขึ้น  


รองลงมาเป็น หมวดหมู่สุขภาพ มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 29,329 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 25.87% พบว่าข่าวปลอมสูงในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่นกัน โดยคาดการณ์ในอนาคต มีแนวโน้มว่า หากมีการพบโรคระบาดใหม่ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการนำประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพการรับประทาน การรักษาด้วยตนเองมาบิดเบือนและแชร์ข้อมูล เกิดความเข้าใจผิดวนซ้ำได้อีก 

 

ขณะที่ หมวดหมู่เศรษฐกิจ มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 15,966 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 14.09% พบข่าวบิดเบือน และข่าวปลอมในช่วงที่มีการปรับ เปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าอุปโภคและบริโภค ส่วนหมวดหมู่ภัยพิบัติ มีแนวโน้มที่จำนวนการพูดถึงเฉลี่ย 15,042 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 13.27% โดยพบข่าวปลอมสูงในบางช่วง ในสถานการณ์วิกฤต ช่วงเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ กระแสข่าวเกี่ยวกับมีผู้ประสบภัยพิบัติของทั้งในและต่างประเทศ 


นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวว่า ในปี 65 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จะมุ่งเน้นกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยครอบคลุมตั้งแต่ระดับเยาวชน จนถึงเครือข่ายภาคประชาชน โดยกลุ่มเป้าหมายนักเรียน นักศึกษา ได้จัดกิจกรรมจัดประกวดการผลิตคลิปวีดีโอสั้น เพื่อสร้างการรับรู้เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ทีมชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาทีมละ 80,000 บาท เปิดรับผลงาน ช่วง ม.ค. 65 – มี.ค 65 และประกาศผล พ.ค. 65 โดยทุกคลิปวิดีโอที่ได้รับรางวัลจะได้รับการเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงบนสถานีโทรทัศน์  


สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาข่าวและข้อมูลปลอม ที่มีการเผยแพร่ส่งต่ออยู่บนสื่อสังคมออนไลน์อยู่เป็นจำนวนมาก  และมีผู้กระทำผิดอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ  เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจสอบพิสูจน์ทราบตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริง  และการดำเนินการติดตามตัว  มาดำเนินคดีตามกฎหมาย  จึงได้ จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  หรือ  ANSCOP เพื่อให้การควบคุม  กำกับดูแล  สั่งการ  และบริหารราชการ ให้เป็นเอกภาพ  ภายใต้ยุทธศาสตร์และมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจน  พร้อมกันนี้  ได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง  ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคงของกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค  1-9  เพื่อให้การปฏิบัติงานครอบคลุมพื้นที่และสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาข่าวและข้อมูลปลอมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 


ผลการปฏิบัติงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคงสำนักงานตำรวจชาติ  หรือ  ANSCOP  ในรอบ 8 เดือน ( 1 พ.ค. จนถึง  ปัจจุบัน) พบว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย  หรือ  AFNC  ได้ส่งโพสต์ที่ตรวจพบและตรวจสอบแล้วได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน  จำนวน 1193 ราย (Urls)  มีโพสต์ที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการพิสูจน์ทราบผู้กระทำผิดแล้ว  จำนวน 287 ราย (Urls)  ซึ่งมีผู้เสียหายได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ  ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว  จำนวน 53 คดี  ซึ่งอยู่ในระหว่างสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน  และทำสำนวนคดี  ส่งฟ้องตามกระบวน 

การยุติธรรมต่อไป  


ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ดำเนินการตักเตือน ให้แก้ไขข่าวหรือลบโพสต์  จำนวน 36 ราย  ตามที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่จะทำได้ในกรณีข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน  ที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด 19 ที่ไม่รุนแรง  อีกทั้งยังได้ขึ้นบัญชี ที่ต้องเฝ้าติดตามผู้ที่มีพฤติการณ์โพสต์ข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน  จำนวน  906 ราย (Urls)                   

หากพบมีการโพสต์ข่าวหรือข้อมูลปลอม  ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย  เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการตามกฎหมายทันที  



ในขณะเดียวกันผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังมีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ข่าว  ของ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  หรือ  บช.สอท.  เพื่อปบัติการชี้แจงและตอบโต้ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้หยุดเคลื่อนไหวหรือลบโพสต์  ที่ไม่ถูกต้องหรือเข้าข่ายผิดกฎหมาย  โดยการเข้าไป ติดต่อด้วยความสุภาพ  แจ้งข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของข่าว  ที่อาจปลอมหรือบิดเบือน  ไปบนสื่อสังคมออนไลน์ในวงกว้าง  โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินการแล้ว  จำนวน 423 ราย (Urls)  ทำให้ผู้โพสต์หยุดเคลื่อนไหวหรือมีการลบโพสต์ดังกล่าว 


ฝากความห่วงใยให้แก่พี่น้องประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ระมัดระวัง  หรือไม่ไตร่ตรองข้อมูลให้รอบด้าน  อาจตกเป็นเหยื่อเกิดความเสียหายได้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  พล.ต.อ.สุวัฒน์  แจ้งยอดสุข  ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์  อย่าให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  เสมือนกับ “การฉีดวัคซีนให้กับประชาชน”  แต่หากมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดอาศัยใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในการกระทำความผิด  ทั้งการหลอกลวงฉ้อโกง การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ  ปลอม  หรือบิดเบือน  ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน  สังคม  เศรษฐกิจของประเทศ  จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด  ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และขอฝากข้อคิดสำหรับพี่น้องประชาชน  ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ว่า  ขอให้ท่านระลึกอยู่ตลอดเวลา เมื่อใช้สื่ออนไลน์  “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน”  ทุกท่านจะปลอดภัยจากการถูกฉ้อโกง  หลอกลวง  บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างแน่นอน



ข้อมูล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม   

ข่าวแนะนำ