สดร.แจง "สุริยุปราคา" เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เตือนโซเชียลใช้วิจารณญาณ
สดร.อธิบาย "สุริยุปราคา" เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ อธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ สามารถคำนวณล่วงหน้าได้หลายพันปี ไม่มีผลกระทบต่อมนุษย์
วันนี้ (21 มิ.ย.63) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2563 จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” แนวคราสวงแหวนพาดผ่านสาธารณรัฐอัฟริกากลาง คองโก เอธิโอเปีย ตอนใต้ของปากีสถาน ตอนเหนือของอินเดีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน
ส่วนประเทศไทยจะเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง สามารถสังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย แต่ละภูมิภาคจะมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากน้อยแตกต่างกัน สามารถสังเกตได้ในช่วงเวลาประมาณ 13:00 - 16:10 น. ตามเวลาประเทศไทย ดวงอาทิตย์จะปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุด เวลาประมาณ 14:49 น.
ปรากฏการณ์ “สุริยุปราคา” เกิดจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณการเกิดล่วงหน้าได้หลายพันปี
ดวงอาทิตย์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่าดวงจันทร์ 400 เท่า แต่อยู่ห่างจากโลกมากกว่าดวงจันทร์ 400 เท่า เราจึงมองเห็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มีขนาดปรากฎเท่ากันพอดี สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากดวงจันทร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เราจึงมองเห็นดวงอาทิตย์ค่อยๆ แหว่งมากขึ้นจนกระทั่งมืดมิดหมดดวงและโผล่กลับมาอีกครั้ง
เมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน อาจส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อโลกอันเนื่องมาจากแรงโน้มถ่วงที่ดวงจันทร์กระทำต่อโลก หรือแรงไทดัล จะทำให้เกิดน้ำขึ้น น้ำลง มากกว่าปกติ แต่จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
ในอดีตที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา จันทรุปราคา มาแล้วมากมายหลายครั้ง นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา ได้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ข้อมูลแม่นยำเป็นระดับวินาที (อ้างอิง http://eclipsewise.com) เป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ และอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าศึกษาติดตาม เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อื่นๆ เช่น ดาวเคียงเดือน ดาวเคราะห์ชุมนุม ดาวเคราะห์ใกล้โลก เป็นต้น การสัมผัสประสบการณ์ตรงในปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ต่างๆ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลูกฝังกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนอีกด้วย
"ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสื่อสังคมออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง ข้อมูลต่างๆ วนเวียนอยู่ในโลกไซเบอร์ต้องอาศัยวิจารณญาณในการรับรู้ จึงขอให้ประชาชนเปิดรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ ศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ด้วยเหตุและผล ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง และเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวัง" ดร. ศรัณย์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชมสดที่นี่! สดร.ชวนชม Live "สุริยุปราคา" พลาดต้องรออีก 7 ปี
เปิด 2 วิธีดู สุริยุปราคา แบบง่ายๆไม่เสียสายตา
วันนี้ ‘วันครีษมายัน’ ดวงอาทิตย์อยู่บนฟากฟ้าเกือบ 13 ชั่วโมง!
อย่าลืมชม! สุริยุปราคาบางส่วน 21 มิ.ย.นี้ พลาดต้องรออีก 7 ปี
เกาะติดข่าวที่นี่website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline