TNN คืนออกพรรษา 2567 ชม “ซูเปอร์ฟูลมูนใกล้โลก” ดวงจันทร์เต็มดวง สวยงามถึงรุ่งสาง

TNN

วิทยาศาสตร์

คืนออกพรรษา 2567 ชม “ซูเปอร์ฟูลมูนใกล้โลก” ดวงจันทร์เต็มดวง สวยงามถึงรุ่งสาง

คืนออกพรรษา 2567 ชม “ซูเปอร์ฟูลมูนใกล้โลก” ดวงจันทร์เต็มดวง สวยงามถึงรุ่งสาง

ซูเปอร์ฟูลมูน 17 ตุลาคม 2567 “คืนวันออกพรรษา” ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ชื่นชมความสวยงามได้ถึงรุ่งสาง

คืนวันออกพรรษา วันที่ 17 ตุลาคม 2567 นี้ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่น่าจับตามองสำหรับคนรักดาราศาสตร์ นั่นคือ “ซูเปอร์ฟูลมูน” (Super Full Moon) ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงและอยู่ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะประมาณ 357,358 กิโลเมตร ส่งผลให้ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย สามารถเริ่มชมได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:28 น. ทางทิศตะวันออก และสามารถชมความสวยงามของดวงจันทร์ได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า


ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี ซึ่งทำให้มีช่วงที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) และช่วงที่ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) โดยระยะห่างเฉลี่ยของดวงจันทร์ในตำแหน่งเปริจีประมาณ 357,000 กิโลเมตร และระยะห่างในตำแหน่งอะโปจีประมาณ 406,000 กิโลเมตร


เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มีโอกาสสังเกตปรากฏการณ์นี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) จัดกิจกรรมดูดาวชมจันทร์พร้อมธีม Halloween ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 5 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่


- อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่

- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา

- ขอนแก่น

- ฉะเชิงเทรา

- สงขลา


กิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่เวลา 18:00 - 22:00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมกิจกรรมพิเศษที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ. เชียงใหม่ ได้แก่ การฟัง Special Talk ในหัวข้อ “เรื่องเร้นลับของดวงจันทร์” และการร่วมสนุกถ่ายภาพกับดวงจันทร์ยักษ์ รับของที่ระลึกสุดพิเศษ สำหรับผู้ที่แต่งกายธีม Halloween ร่วมงาน


อย่าพลาดโอกาสที่จะได้ชมซูเปอร์ฟูลมูนในคืนพิเศษนี้ พร้อมกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เหมาะสำหรับทั้งครอบครัวและผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพและศึกษาเรื่องราวทางดาราศาสตร์ 



ข้อมูลจาก: NARIT  

ภาพจาก AFP 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง