TNN ลุ้นชม "ดาวหาง 12P/Pons-Brooks" อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่าปลายเมษายนนี้

TNN

วิทยาศาสตร์

ลุ้นชม "ดาวหาง 12P/Pons-Brooks" อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่าปลายเมษายนนี้

ลุ้นชม ดาวหาง 12P/Pons-Brooks อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่าปลายเมษายนนี้

สดร. ชวนลุ้นชม "ดาวหาง 12P/Pons-Brooks" จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในช่วงปลายเดือนเมษายนปี 2024

สดร. ชวนลุ้นชม "ดาวหาง 12P/Pons-Brooks" จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในช่วงปลายเดือนเมษายนปี 2024

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) โพสต์เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนมาลุ้นชมดาวหาง 12P/Pons-Brooks ที่กำลังเพิ่มความสว่างขึ้นเรื่อย ๆ และจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในช่วงปลายเดือนเมษายนปี 2024 จึงอาจมีความสว่างเพิ่มขึ้นจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้าตอนกลางคืน นับเป็นหนึ่งในดาวหางที่น่าติดตามในช่วงต้นปีนี้


ดาวหาง 12P/Pons-Brooks จัดเป็นดาวหางประเภทเดียวกันกับดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) กล่าวคือมีคาบการโคจรโคจรรอบดวงอาทิตย์ 71 ปี จึงจัดอยู่ในดาวหางประเภท "ดาวหางคาบสั้น" (Periodic comet) ค้นพบครั้งแรกโดย Jean-Louis Pons นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1812 และมีการค้นพบซ้ำอีกครั้งในปี 1883 โดย William Robert Brooks นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน จึงเป็นที่มาของชื่อดาวหาง 12P/Pons-Brooks นั่นเอง


ดาวหางดวงนี้โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีค่อนข้างมาก จุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดมีระยะห่างเพียง 116 ล้านกิโลเมตร (0.77 AU) ขณะที่จุดที่ไกลดวงอาทิตย์มากที่สุดมีระยะห่างถึง 4,965 ล้านกิโลเมตร (33.2 AU) ซึ่งโดยปกติแล้วช่วงที่ดาวหางจะมีความสว่างสูงสุด จะเป็นช่วงที่ดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด เพราะนิวเคลียสของดาวหางจะได้รับพลังงานและรังสีจากดวงอาทิตย์มากขึ้น ทำให้เกิดกลุ่มฝุ่นและแก๊สฟุ้งกระจายออกมามาก ซึ่งขณะนี้ดาวหาง 12P/Pons-Brooks กำลังโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 2024 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด


จากการคาดการณ์โดยเว็บไซต์ theskylive.com ดาวหางอาจมีค่าอันดับความสว่างปรากฏได้มากถึง แมกนิจูด 4.42 ใกล้เคียงกับค่าอันดับความสว่างปรากฏของเนบิวลานายพราน (M42) และกระจุกดาวเปิดในกลุ่มดาวหมาใหญ่ (M41) หมายความว่า หากท้องฟ้ามืดสนิทเพียงพอ ในช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด เราจะสามารถมองเห็นดาวหางได้ด้วยตาเปล่า 


ทั้งนี้ ค่าอันดับความสว่างปรากฏที่คาดการณ์เป็นเพียงการคาดการณ์เบื้องต้นเท่านั้น ความสว่างที่จะเกิดขึ้นจริงขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย ซึ่งดาวหางอาจสว่างกว่านี้หรืออาจจะสว่างน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้


แล้วเราต้องดูทางทิศไหน ? และเวลาใด ?


ในช่วงนี้ดาวหางมีตำแหน่งปรากฏอยู่บริเวณกลุ่มดาวแอนโดรเมดา (Andromeda) ทางขอบฟ้าทิศตะวันตก สามารถสังเกตการณ์ได้ในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตกตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 


ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังตกลับขอบฟ้า ดาวหางจะมีมุมเงยเพียงประมาณ 12 องศาเท่านั้น จึงมีเวลาปรากฏอยู่บนท้องฟ้าไม่นานก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไป และการที่ดาวหางมีมุมต่ำเช่นนี้ก็อาจทำให้ยากต่อการสังเกตการณ์เนื่องจากมลภาวะในชั้นบรรยากาศ จากนั้นดาวหางจะค่อย ๆ เปลี่ยนตำแหน่งเคลื่อนไปยังกลุ่มดาวแกะ (Aries) ในช่วงปลายเดือนมีนาคม และจะเคลื่อนไปสู่กลุ่มดาววัว (Taurus) ในช่วงปลายเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงที่ดาวหางน่าจะมีความสว่างสูงที่สุด *ดูภาพประกอบได้ที่ช่องคอมเมนต์*


ดาวหาง 12P/Pons-Brooks จัดเป็นดาวหางหนึ่งในดาวหางคาบสั้นที่มีความสว่างสูง และมีคาบการโคจรใกล้เคียงกับดาวหางฮัลเลย์ นั่นหมายความว่า ในช่วงชีวิตของมนุษย์จะมีโอกาสเพียง 1 ครั้งเท่านั้นที่จะสามารถสังเกตการณ์ดาวหางดวงนี้ได้ ก่อนที่ดาวหางจะโคจรออกห่างไปจากดวงอาทิตย์ ค่อย ๆ ริบหรี่จางหายไปในอวกาศ แล้วจะวกกลับมาเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ให้พวกเราได้ยลโฉมอีกครั้งในอีก 71 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว


12P/Pons-Brooks จะเพิ่มความสว่างได้มากแค่ไหน จะปรากฏเป็นดาวหางที่ทอดยาวอยู่บนท้องฟ้าให้เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างงดงามได้หรือไม่ มาร่วมลุ้นไปด้วยกัน





ขอบคุณที่มา NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, ธนกร อังค์วัฒนะ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร 

แฟ้มภาพ AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง