TNN “พิชัย” เด้งรับข้อสั่งการนายกฯ เรียกถกด่วน 16 หน่วยงาน แก้ปมสินค้าด้อยคุณภาพ-ธุรกิจนอมินีต่างชาติ ขีดเส้น 30 วัน เห็นผล

TNN

การเมือง

“พิชัย” เด้งรับข้อสั่งการนายกฯ เรียกถกด่วน 16 หน่วยงาน แก้ปมสินค้าด้อยคุณภาพ-ธุรกิจนอมินีต่างชาติ ขีดเส้น 30 วัน เห็นผล

“พิชัย” เด้งรับข้อสั่งการนายกฯ เรียกถกด่วน 16 หน่วยงาน แก้ปมสินค้าด้อยคุณภาพ-ธุรกิจนอมินีต่างชาติ ขีดเส้น 30 วัน เห็นผล

รมว.พาณิชย์ ขานรับนายกฯ เรียกถกด่วน 16 หน่วยงาน แก้ปมสินค้าด้อยคุณภาพ-ธุรกิจนอมินีต่างชาติ ตั้งเป้าเห็นผลเป็นรูปธรรมใน 30 วัน



วันที่ 30 ตุลาคม 2567   นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ครั้งที่ 1/2567 ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการเชิงรุกในการติดตามและเร่งรัดมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค และผู้ประกอบการ SMEs ของไทย 


นายพิชัย กล่าวว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรก ซึ่งท่านนายกฯ มีความห่วงใยมาก โดยเฉพาะสินค้าที่ด้อยคุณภาพและมีผลกระทบต่อประชาชน คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมานี้ เป็นการดึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งรัดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เราตั้งใจดำเนินการตามข้อสั่งการท่านนายกฯ ทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 เดือน และจะจัดประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามความคืบหน้าและพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องต่อไป


วันนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด โดยให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ทั้ง 2 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ ทำหน้าที่กำหนดมาตรการ ดำเนินการควบคุมและกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้า ตลอดจนเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และ 2.คณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) เพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลและป้องปราม รวมถึงสืบสวน สอบสวนหรือตรวจสอบพฤติกรรมของบุคคลและนิติบุคคลที่อาจมีพฤติกรรมเป็นนอมินี 


โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมาตนได้หารือร่วมกับนายหาน จื้อเฉียงเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งทางจีนยินดีให้ความร่วมมือ และต้องการรักษาความรู้สึกที่ดีกับไทย และวันที่ 4-6 พ.ย.นี้ ตนจะเดินทางไปจีนจะพบกับผู้บริหารระดับสูงของจีน จะได้ปรึกษาหารือกัน เพราะไทยยังต้องพึ่งพาจีนทั้งด้านการค้าและการลงทุน และไทยมีสินค้าหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาจีน เช่น มันสำปะหลัง วัว เหล็ก เป็นต้น ซึ่งหวังว่าเรากับจีนจะพึ่งพากันได้และไม่กระทบผู้ประกอบการไทย โดยวางแผนที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ผ่าน "กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน อย่างยั่งยืน" ที่จัดตั้งโดยคณะกรรมการหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน อีกด้วย


“ทุกหน่วยงานจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจนแล้วว่า ได้รับการติดต่อจาก TEMU ว่าจะดำเนินจดจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยเร็วๆนี้ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้มีการติดต่อแล้วให้ทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มงวด และจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทย เชื่อว่าภายใน 30 วันจะเห็นผล ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการมา ถ้ามีความกังวลเรื่องอาหารและผักผลไม้ที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ เราได้มีการให้ อย. และศุลกากร เข้มงวดเรื่องนี้เช่นกันไม่ต้องการให้สุขภาพของประชาชนมีปัญหา” นายพิชัยกล่าว


นอกจากนี้ผู้แทนของ 4 หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพและธุรกิจต่างชาติที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

อาทิ นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ทางศุลกากรมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด ที่มีประเด็นเรื่องสินค้าที่ด้อยคุณภาพ ที่ผ่านมาการนำเข้าที่มีปริมาณเล็กน้อย สมอ.ยินยอมให้นำเข้ามาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ปัจจุบัน สินค้าที่จำหน่ายภายในประเทศ จำเป็นต้องติด หรือมีใบอนุญาตจาก มอก.


ด้านนายสุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ในส่วนของ อย.เราดำเนินการตั้งแต่ที่ด่าน การคัดกรองเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายให้มีการนำสินค้าติดตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกองทัพมด เราลดความถี่และจำนวนที่นำเข้าติดตัวมาแต่ละครั้ง รวมทั้งมีการตรวจในพื้นที่ทั้ง กทม. และภูมิภาค ใน กทม. ดำเนินการลงพื้นที่ทุกสัปดาห์ ในต่างจังหวัดร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ดูว่ามีสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรอง อย. นำมาขายโดยไม่ถูกต้องอย่างเข้มข้นอยู่ตลอด


นางสาวทรงศิริ จุมพล รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ทาง สคบ. มีเรื่องฉลากสินค้าและความปลอดภัย สินค้าที่มีการผลิตการนำเข้ามาเพื่อขายต้องมีการติดฉลากแสดงรายละเอียดให้ผู้บริโภคทราบ ยกเว้นเป็นสินค้าที่อยู่ในความดูแลของ อย. การนำเข้ามาต้องมีการแสดงรายละเอียดในฉลากก่อนนำถึงผู้บริโภค ต้องติดฉลากให้ถูกต้อง กรณีเก็บเงินปลายทางผู้บริโภคมีสิทธิเปิดสินค้าตรวจสอบและสามารถคืนผู้ให้บริการขนส่ง ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาได้บางส่วน


ด้านนายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ร่วมกับกรมศุลกากร เราปิดช่องทางการนำเข้าโดยไม่ใช้ใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา และร่วมกันตั้งศูนย์ปฏิบัติการหากไม่มีใบอนุญาต จะสแกนสินค้าน้้นโดยละเอียด และที่เขต free zone (เขตปลอดอากร) จะมีการตรวจสินค้าที่ออกจากเขตอย่างเข้มงวด

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง