เส้นทาง “ปลัดเก่ง สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” จากปลัดอำเภอ สู่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
บนเส้นทาง "ปลัดเก่ง" - "สุทธิพงษ์ จุลเจริญ" จากปลัดอำเภอสู่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดระยะเวลา 36 ปี 2 เดือน 26 วัน ทุกวันคือวันแห่งความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมฝากข้าราชการที่กำลังจะเกษียณอายุราชการน้อมนำพระราชดำรัสกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ "อย่าเกษียณจากการทำประโยชน์ให้ส่วนรวม"
วันนี้ (23 ก.ย. 67) ในการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 3/2567 ซึ่งมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยถึงความรู้สึกที่มีโอกาสได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทตอบแทนบุญคุณแผ่นดินดังปณิธาน "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ซึ่งตนกำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ต.ค. 67 รวมระยะเวลา 36 ปี 2 เดือน 26 วัน จากตำแหน่ง "ปลัดอำเภอสู่ปลัดกระทรวงมหาดไทย" ที่ทุกวันเป็นวันแห่งความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนเป็นคนบ้านนอก อยู่แหลมงอบ จังหวัดตราด เกิดกับหมอตำแย ได้สอบบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2531 ณ ที่ทำการปกครองอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ด้วยความภาคภูมิใจกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตลอดเส้นทางชีวิตราชการ ตนภูมิใจที่ได้เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพยายามบอกกับตัวเองรวมถึงลูกน้องอยู่เสมอว่า "ต้องมีPassion" เพื่อที่เราจะได้ Change for Good และทำหน้าที่ของเราให้ดีขึ้นทุกวัน
"เนื่องในโอกาสที่ตนจะเกษียณอายุราชการ จึงได้จัดพิมพ์หนังสือ 2 เล่ม คือ 1. "Change for Good เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" เป็นการประมวลรวบรวมผลานที่ได้รับการพิมพ์เผยแพรทางหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ และ 2. "ปลัดเก่ง ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปลัดกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2564-2567)" เป็นประวัติของชีวิตและการทำงานบางส่วน ซึ่งเป็นผลงานสำคัญในการขับเคลื่อนงานแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน อาทิ การขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยั่งยืน (ตั้งแต่ตั้งครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยข้อมูล TPMAP และ ThaiQM, โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา "หมู่บ้านรักษาศีล 5 ขยายผลสู่หมู่บ้านศีลธรรรม", การส่งเสริมสนับสนุนการสวมใส่ผ้าไทยและโครงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน ภาคีเครือข่าย ได้จัดพิมพ์หนังสือประมวลองค์ความรู้และแนวทางการขับเคลื่อนงานเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขพี่น้องประชาชนมอบแด่ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บริหารระดับสูงทุกท่าน รวม 7 เล่ม ทั้งได้จัดทำ QR Code เพื่อน้อง ๆ ข้าราชการ ตลอดจนผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาเรียนรู้เพิ่มพูนทักษะจากประสบการณ์การทำงานของตน ได้แก่ 1. ความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา อารยเกษตร" ทางรอด (ไม่ใช่ทางเลือก) อย่างยั่งยืน 2. ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร 3. 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบารมีแผ่ไพศาลประชาราษฎร์ร่มเย็น ด้วยสายธารน้ำพระราชหฤทัยแห่งภูมินทร์ 4. สมุดภาพกระทรวงมหาดไทย (2435-2565) เล่ม 1-3 และ 5. พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ที่เกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งได้มอบหนังสือ "การสร้างตัวแบบและการขยายผลการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน" ซึ่งเป็นการประมวลการศึกษาค้นคว้าและวิจัยตามโครงการพัฒนานักบริหารระดับสูงแด่นายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมด้วย พร้อมฝากผู้ที่อยากพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนควรอ่าน คือหนังสือ "แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ที่จัดพิมพ์โดย สำนักงาน กปร." นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวถึงในเรื่องการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี "บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน" ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สอดคล้องกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 63 ความว่า "ประเทศชาติมั่นคงประชาชนมีความสุขแก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งสิ่งผิดเรื่องหนึ่งของคนไทย ก็คือเรื่อง "ค่านิยมในการครองชีพ" ที่ในอดีตนั้น ปู่ย่าตายายเราปลูกผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ พึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นทางรอดของคนในประเทศที่สำคัญ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะล่มสลายเกิดโรคระบาด หรือมีภาวะสงคราม ถ้าพี่น้องประชาชนพึ่งพาตนเองได้ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งพวกเราโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานทั้งเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มากกว่า 40 ทฤษฎี โครงการพระราชดำริมากกว่า 4,741 โครงการ ที่ล้วนแต่ส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา ตนดีใจที่ได้รับโอกาสจากท่านนายกรัฐมนตรี ได้กรุณามอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจ้งมายังกระทรวงมหาดไทย ให้ผลักดันขับเคลื่อนสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีมีความปรารถนาที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิตและได้รับโอกาสที่ดีของชีวิตให้กับประชาชนคนไทยที่ยังขาดโอกาสเหล่านั้น ก็คือ "พี่น้องคนไทยที่ยังไม่มีสัญชาติจำนวนมาก" ทั้งนี้ นับตั้งแต่การสถาปนากระทรวงมหาดไทยให้เป็นหน่วยงานทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ถึงวันนี้132 ปี เฉพาะเรื่องสัญชาติ หรือเรื่องคนไทยที่อยู่ในแผ่นดินไทยแต่ไร้สัญชาติ เราขับเคลื่อนมาเกือบ 40 ปี ตัวเลขที่ยังตกค้างอยู่คือ 4.8 แสนคน ซึ่งทางสภาความมั่นคงแห่งชาติและภาคีเครือข่ายหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ประชุมหารือร่วมกันแล้ว และเห็นชอบในหลักการ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาบรรจุเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อเห็นชอบให้เป็นโครงการ Quick Win ภายในปีงบประมาณ 67 นี้ ก็จะทำให้บุคคลเหล่านี้ได้รับสิ่งที่ดี ได้รับโอกาสที่ดีของชีวิต และที่สำคัญคนที่อยู่บนดอย บนแผ่นดินไทย ที่ล้วนเป็นพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นโครงการนี้ ก็จะเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ ในปีมหามงคล ที่เป็นปฏิบัติบูชาที่สำคัญยิ่ง
ในเรื่องที่ 2 ที่ได้รับบัญชาจากท่านนายกรัฐมนตรี คือเรื่อง การแก้ไขในสิ่งผิด ในเรื่อง"ที่ดินหลวงบุกรุกที่ดินพี่น้องประชาชน" ซึ่งข้อเท็จจริง มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่อาศัยในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา ที่เป็นอำเภอทั้ง 878 เป็นอำเภอตั้งใหม่ล่าสุด แยกจากอำเภอแม่แจ่มและอมก๋อย เมื่อปี 2552 โดยพบว่า ประชาชนที่อยู่อำเภอนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่สูง เป็นดอย พวกเขาอยู่มาก่อนกฎหมายอุทยานประกาศใช้ ซึ่งหลักการง่าย ๆ นั้นในขณะนี้ เรามีภาพถ่ายทางอากาศที่ทหารสหรัฐอเมริกามาทำให้ตั้งแต่ปี 2495 และปัจจุบันเรามีภาพถ่ายทางอากาศมากกว่า 10 ภาพ และข้อเท็จจริงพบว่า กฎหมายอุทยานและกฎหมายป่าสงวน ตราขี้นในปี 2507 ดังนั้น หากท่านนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้เรื่องนี้ขอความเห็นชอบในที่ประชุม ครม. ให้นำภาพถ่ายทางอากาศมาประกอบกับที่กรมแผนที่ทหารทำการเดินสำรวจ มาใช้เทคโนโลยี AI หรือเทคโนโลยีอื่นใด ซ้อนเป็นเลเยอร์ แล้วมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัด (กปร.ส่วนจังหวัด) ดำเนินการ ก็จะทำให้การออกโฉนด และการออกเอกสารสิทธิ์สามารถดำเนินการต่อไปได้ ยังผลทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีสุขอย่างดียิ่ง
"และในอีกแง่มุมหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สำคัญ ตนได้สะอนผ่านในเรื่องความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา อารยเกษตร ตามหนังสือทางรอด (ไม่ใช่ทางเลือก) อย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันเราเรียกว่า "อารยเกษตร" และต้องเรียกให้คุ้นชิน เพราะเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธานมุ่งมั่นในการสืบสานรักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และโคก หนอง นาโดยคำว่า "อารยเกษตร" มีนัยที่ชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นแค่มีอาหารการกิน หรือมีปัจจัย 4 แต่ทำให้เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สวยงาม มีสุขภาพจิตดี มีบ้านเป็นรีสอร์ท มีที่ดินเป็นรีสอร์ทได้ และสำหรับในเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่อยู่ในหนังสือ "การสร้างตัวแบบและการขยายผลการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน" ที่เป็นการประมวลการศึกษาค้นคว้าและวิจัยตามโครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง หรือหลักสูตร ปยป. เมื่อครั้งตนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ซึ่งตนได้สะท้อนว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องสำคัญ แต่เรามีพาราไดม์ที่ผิดพลาดอยู่บางประการ คือ เรามุ่งเน้นในเรื่องการทำโครงสร้างพื้นฐานของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ระยะต้นจำเป็นต้องมีเขื่อน ต้องมีอ่างเก็บน้ำ ต้องมีคลองส่งน้ำชลประทาน แต่เวลาผ่านมาถึงปัจจุบันเรามีระบบชลประทานที่สามารถส่งน้ำไปถึงที่ดินของพี่น้องประชาชน ประมาณเพียงแค่ไม่เกินร้อยละ 20 ซึ่งไม่ถึงครึ่งของปริมาณความต้องการของประชาชน และที่สำคัญ คือ ไม่สามารถทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนมากมีความมั่นคงด้านอาหาร และมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการมีน้ำดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้ต่อยอดด้วยการจัดทำแผนที่ลุ่มน้ำ โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการจากเดิมมี 25 ลุ่มน้ำ ตอนนี้เราสำรวจและประมวลแล้ว คงเหลือ22 ลุ่มน้ำ ตามโครงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อ การบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) ซึ่งได้รับรางวัล “Special Achievement in GIS (SAG) Award 2024” จากองค์กรเอกชน ประเทศสหรัฐอเมริกา มีสาระโดยสังเขปว่า แผนที่ลุ่มน้ำเป็นแผนที่ขนาดใหญ่ที่เป็นเหมือนรากแก้ว แต่ก่อนเป็นรากแก้ว มันมีรากแขนง มีรากฝอย มีห้วย มีคลอง ซึ่งหากท่านนายกรัฐมนตรีจะหยิบยกเรื่องนี้มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศ ก็จะทำให้การขับเคลื่อนบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร และการอุตสาหกรรม เพื่อพี่น้องประชาชนรายครัวเรือนและในหมู่บ้าน ในสังคม จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน"
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ตนภาคภูมิใจตลอดเวลาของการเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และวันนี้ยิ่งภูมิใจ เพราะตลอดระยะเวลา 125 ปีของการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "น.ส.แพทองธาร ชินวัตร" เป็นนิสิตเก่าคนแรกที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ซึ่งเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉกเช่นเดียวกับพวกเราทุกคน จึงขอเป็นกำลังใจให้กับท่านนายกรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้ผลดี และขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องปลัดกระทรวงและข้าราชการทุกท่านที่ยังอยู่ในราชการได้มุ่งมั่นทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ด้วยเป้าหมายเดียวกัน คือ "ความสุขที่ยั่งยืนของพี่น้องประชาชน" และฝากพี่น้องผู้เกษียณอายุราชการในปีนี้ได้น้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานแก่คณะคุณครูที่เกษียณอายุราชการเมื่อปี 2554 ที่ จ.นครนายก ความว่า "เราเกษียณอายุราชการได้ แต่ต้องไม่เกษียณจากการทำความดีเพื่อสังคม" มาเป็นหลักชัยในการร่วมดูแลผืนแผ่นดินไทยให้เป็นสุวรรณภูมิของลูกหลานคู่กับโลกใบเดียวนี้อย่างยั่งยืนตลอดไป
ที่มาข่าว : tnn
ข่าวแนะนำ