ปชป. เรตติ้งตกฮวบ! ผลพวงขน 21 สส. ร่วมรัฐบาล ขณะที่ พท. ขยับขึ้น
ผลโพลชี้ ปชป. คะแนนนิยมลดฮวบ หลังขน 21 สส. ร่วมรัฐบาล ขณะที่ พท. คะแนนขยับขึ้น ส่วนท่าทีของประชาชนต่อการยุบพรรคก้าวไกล ยังสร้างความรู้สึกที่หลากหลาย
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 สำนักวิจัย "ซูเปอร์โพล" เสนอผลสำรวจเรื่อง "ความนิยมต่อประชาธิปัตย์" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,346 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29 - 31 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
เมื่อวิเคราะห์ความนิยมของประชาชนคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ต่อพรรคประชาธิปัตย์ หลังมีข่าวเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พบว่า คะแนนนิยมต่อพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มขึ้นหรืออยู่ในแดนบวก เพียงร้อยละ 39.9 ในขณะที่คะแนนนิยมส่วนใหญ่ต่อพรรคประชาธิปัตย์ลดลงหรืออยู่ในแดนลบ ถึงร้อยละ 60.1 ในกลุ่มคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อวิเคราะห์ความนิยมของประชาชนคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทยต่อพรรคเพื่อไทย หลังมีข่าวพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล พบว่า คะแนนนิยมต่อพรรคเพื่อไทยกลับเพิ่มขึ้นหรืออยู่ในแดนบวก สูงถึงร้อยละ 80.4 ในขณะที่คะแนนนิยมต่อพรรคเพื่อไทยลดลงหรืออยู่ในแดนลบ มีอยู่ร้อยละ 19.6 ในกลุ่มคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทย
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกออกตามกลุ่มอาชีพของคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า พรรคประชาธิปัตย์เสียคะแนนนิยมในกลุ่มพนักงานเอกชนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด คือร้อยละ 81.1 รองลงมาคือกลุ่มเกษียณอายุ ร้อยละ 66.7 กลุ่มค้าขายอาชีพอิสระ ร้อยละ 65.3 กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 62.3 และกลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 54.7 ของกลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกออกตามกลุ่มอาชีพของคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทย พบว่า หลังมีข่าวพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับ ทำให้คะแนนนิยมของประชาชนคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นหรืออยู่ในแดนบวก สูงสุดในกลุ่มเกษียณอายุร้อยละ 81.8 รองลงมาคือ กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 80.6 กลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 79.2 กลุ่มค้าขาย อาชีพอิสระ ร้อยละ 73.8 และกลุ่มพนักงานเอกชน ร้อยละ 66.9 ของกลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทย ที่น่าสนใจอีกประเด็นของผลสำรวจครั้งนี้คือ ความรู้สึกของประชาชน เมื่อพรรคก้าวไกลถูกยุบ พบว่า จำนวนมากสุดหรือร้อยละ 44.1 รู้สึกเฉย ๆ ในขณะที่ร้อยละ 29.7 เสียใจ แต่สัดส่วนใกล้เคียงกันคือร้อยละ 26.2 กลับรู้สึกดีใจ
รายงานของสำนักวิจัยซูเปอร์โพลครั้งนี้สะท้อนถึงความรู้สึกและการตอบสนองทางอารมณ์ของประชาชนต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองล่าสุดในประเทศไทยได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ การร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคะแนนนิยมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความไม่พอใจเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทยกลับมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นสูง นอกจากนี้ การยุบพรรคก้าวไกลยังสร้างความรู้สึกที่หลากหลายในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นสัญญาณของการแบ่งขั้วทางความคิดและการตอบสนองที่แตกต่างกันตามสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยที่อาจนำพาไปสู่วงจรอุบาทว์ซ้ำซากได้
รายงานของซูเปอร์โพล ระบุด้วยว่า เพื่อตอบโจทย์ของการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและการสนับสนุนจากประชาชนต่อการขับเคลื่อนประเทศตามระบอบประชาธิปไตยในอนาคต สำนักวิจัยซูเปอร์โพลจึงจัดทำข้อเสนอแนะที่อาจช่วยให้กลุ่มการเมืองต่างๆ สามารถตอบสนองความต้องการและคาดหวังของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลทางการเมืองการปกครองประเทศหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ซ้ำซาก
1.เพิ่มความโปร่งใสและมีส่วนร่วม กลุ่มการเมืองควรเพิ่มความโปร่งใสในการตัดสินใจและนโยบายต่างๆ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการต่างๆ เช่น การจัดทำนโยบาย การแก้ไขปัญหาสังคม หรือการวางแผนการพัฒนาต่างๆ โครงการสำคัญตามนโยบายเฉพาะพิเศษของรัฐบาล เช่น เงินดิจิทัล ซอฟต์พาวเวอร์ การให้สิทธิพิเศษต่อชาวต่างชาติและบริษัทข้ามชาติ เป็นต้น
2.สื่อสารที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ การให้ข้อมูลที่ชัดเจนและสม่ำเสมอเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานที่กำลังดำเนินการ จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจและติดตามผลงานของพรรคได้ง่ายขึ้น และช่วยสร้างความไว้วางใจ
3.ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนในระดับท้องถิ่นและแหล่งเลือกตั้งของตน เพื่อสร้างนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการจริงๆ ของพวกเขา ซึ่งจะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมและการสนับสนุน
4.ส่งเสริมความเป็นธรรมและการบริหารจัดการที่ดี พยายามลดการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือกลุ่ม โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการที่ดีและเป็นธรรม สนับสนุนการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ
5.การศึกษาและการพัฒนาความรู้ระบบการเมือง ส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาความรู้ให้กับประชาชน เพื่อให้พวกเขามีความเข้าใจในระบบการเมืองและนโยบายต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนได้อย่างมีข้อมูลครบถ้วน
6.ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เฉพาะเจาะจง มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่มีความเฉพาะเจาะจง เช่น การเพิ่มการจ้างงาน การบริหารจัดการทรัพยากร การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอุตสาหกรรมความรู้ วิจัยนวัตกรรมต่าง ๆ
โดยรวมแล้ว ความพยายามในการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงทางการเมืองที่ยั่งยืนจะต้องอาศัยความโปร่งใส ความเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลักจะช่วยทำให้ประเทศไทยห่างไกลวงจรอุบาทว์ได้ไม่ยากนัก
ข่าวแนะนำ