"ซีพีเอฟ" จัด 5 โครงการลดผลกระทบ "ปลาหมอคางดำ" รับซื้อ-ปล่อยนักล่า-วิจัย ยันไม่ใช่ต้นตอ
“ซีพีเอฟ” แจงสภาฯ จัด 5 โครงการลดผลกระทบ “ปลาหมอคางดำ” แม้ไม่ได้เป็นต้นตอ รับซื้อ-ปล่อยนักล่า-วิจัย 2 สถาบันชื่อดังร่วมด้วย
เมื่อวันที่่ 1 ส.ค. 2567 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย เป็นประธาน กมธ.ฯ ได้พิจารณาเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยเชิญเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และอธิบดีกรมบัญชีกลาง เข้าร่วมหารือ พร้อมพิจารณาโครงการหรือแนวทางของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมีนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPF เข้าชี้แจง
ทั้งนี้ ภายหลังประชุมเสร็จ นายประสิทธิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การเข้าชี้แจงในวันนี้ไม่มีอะไรเพิ่มเติม เป็นการให้ข้อมูลตามที่เคยแจ้งไว้ ส่วนโครงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ ยังคงเป็นไปตาม 5 โครงการทาง CPF ดำเนินการอยู่ ซึ่งวันนี้ก็ได้ชี้แจงเพิ่มเติมในส่วน 5 โครงการนี้ พร้อมเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้มี 2 สถาบัน ที่จะเข้าร่วมโครงการ คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะสนับสนุนมาตรการของรัฐบาล ซึ่งCPF คิดว่าควรมีส่วนช่วยเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตามแต่ จะเกี่ยวข้องกับบริษัทหรือไม่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับช่วงสถานการณ์โควิด-19 CPF ก็เป็นบริษัทหนึ่งที่เข้าไปช่วยส่งอาหารจำนวนหลายล้านกล่องไปช่วยเหลือ
“เราคงตั้งเป้าหมายว่า จะดึงปลาออกจากระบบให้เร็วที่สุด ประมาณ 2 ล้านกิโลกรัม และคงสนับสนุนปลาอีก 2 แสนตัว ในการช่วยกำจัดให้เร็วขึ้น ส่วนเรื่องอื่นจะเป็นเรื่องงานวิจัย ก็ต้องดูว่าผลการวิจัยสามารถใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน“ นายประสิทธิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเปิดเผยภาพหลักฐานหรือไม่ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นไปตามที่แจ้ง อาจจะพูดมากไม่ได้ เพราะอาจจะมีการที่บางคนเอาภาพที่ไม่ถูกต้องมาเผยแพร่ แต่ยืนยันว่าได้ส่งให้กับทางกรมประมงไปแล้ว และย้ำว่า สิ่งที่ชี้แจงเพียงพอแล้ว ส่วนที่คนสงสัยเรื่องภาพ ตามกระบวนการนั้นเราก็ให้คนติดต่อนำไปให้ตามจำนวนปลาที่ตกลงกัน ย้ำว่ามีกระบวนการจัดการที่เป็นมาตรฐาน การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไม่ได้เกิดจาก CPF ส่วนเกิดจากอะไรนั้นก็คงต้องให้คณะกรรมาธิการ หรือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องติดตาม
”กับเรื่องที่มีการส่งออก ตั้ง 3 แสนกว่าตัว ห่างกัน 150 เท่า ผมคิดว่าเอ๊ะ น่าจะไปพิจารณาว่าการแพร่กระจาย มันเกิดจากอะไรกันแน่ ฝากนักข่าวไปลองพิจารณาเพิ่มเติม ว่า 2,000 ตัว กับ 3 แสนกว่าตัว ที่ส่งออกนะครับ ไม่ใช่นำเข้า เอ๊ะ มันมาจากไหน แต่เราคงคอมเม้นต์มากไม่ได้” นายประสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าน่าจะมีบริษัทอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า มันมีข่าวอยู่แล้วนี่ครับ มีหลักฐานอยู่แล้วว่ามีจำนวนการส่งออกปลาหมอคางดำ จาก 11 บริษัทไป 17 ประเทศ ประเด็นนี้เราเห็นข้อมูลจากกรมประมง และข่าวต่างๆที่มีคนไปสืบค้นเพิ่มเติม เมื่อถามว่าอะไรที่ทำให้มั่นใจว่าซีพีเอฟไม่เกี่ยวข้อง นายประสิทธิ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการทั้งหมดอยู่ในฟาร์มที่เป็นระบบ มีมาตรฐานสูง เรายืนยัน ไปกับทางกรมประมงแล้ว ปลาที่มาอยู่กับเราเป็นลูกปลาซะด้วยซ้ำ ถ้าท่านที่เคยเลี้ยงปลาดี จะทราบว่าปลาที่เอามา 2,000 ตัว แล้วมาถึงที่สนามบิน เหลืออยู่ 600 สภาพไม่แข็งแรง ซึ่งแสดงว่าปลาโดยรวมที่เหลือคือไม่แข็งแรง ซึ่งเรื่องนี้มีเจ้าหน้าที่ของกรมกรมประมง มาตรวจเช็คที่สนามบิน พร้อมย้ำว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อถามว่าจำนวนปลาที่ตายทำไมถึงเป็นตัวเลขกลมๆ นายประสิทธิ์ชี้แจงว่า เป็นการประมาณการ ซึ่งตอนนั้นนำเข้ามาวิจัยและพัฒนา โดยมีแนวคิดตั้งต้นมาจากการประชุม พัฒนาสายพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนปี 2549 ซึ่งเรื่องนี้เป็นแค่แนวคิดในการทดลอง ซึ่งกระบวนการก็ยุ่งยากมาก กว่าจะนำเข้ามาได้อย่างถูกกฎหมาย แล้วเอาเข้ามาปลาไม่สมบูรณ์ ทางบริษัทก็ได้ปิดโครงการ
ข่าวแนะนำ