นายกฯ สั่งเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว
นายกฯ สั่งเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว รองรับการเติบโตของภาคท่องเที่ยวของประเทศตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายกฯ สั่งเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว รองรับการเติบโตของภาคท่องเที่ยวของประเทศตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2566) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้การดำเนินงานด้านปริมาณการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อุตสาหกรรมการบินและภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ทั้งในด้านจำนวนเที่ยวบิน และกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ท่าอากาศยานไทยทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.22 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ที่ 639,891 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารรวมทั้งหมด 100.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 114.31 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน
ขณะที่ กำไรสุทธิของ ทอท. อยู่ที่ 8,790.87 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีผลขาดทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยมีรายได้มาจากการขายหรือการให้บริการ ทั้งจากกิจการการบิน การเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากธุรกิจร้านค้าปลอดอากร ธุรกิจการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ธุรกิจจัดส่งอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจบริการภาคพื้นและซ่อมบำรุง
สถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง ประกอบกับที่รัฐบาลมีนโยบายมาตรการ VISA Free ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน คาซัคสถาน สาธารณรัฐอินเดียและไต้หวัน ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ที่ถือเป็นรายได้สำคัญของประเทศ โดย ทอท. ยังได้เดินหน้าเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้น ให้นักท่องเที่ยว และผู้ใช้บริการได้รับการบริการที่รวดเร็ว และมีการเดินทางที่สะดวกสบาย ที่ล่าสุด นายกฯ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) พร้อมระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติเชื่อมต่อระหว่างอาคาร SAT-1 กับอาคารผู้โดยสารหลัก ทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนต่อปี
“เพื่อรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวของประเทศ ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นศักยภาพประเทศ ขานรับและเร่งดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานอย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน และผู้โดยสารได้อีกเป็นจำนวนมาก นายฏรัฐมนตรีสั่งการให้ดูแลความสะดวกสบาย ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ช่วยเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งในท้ายที่สุดจะรวมเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ” นายชัย กล่าว
ข้อมูลจาก รัฐบาลไทย
ภาพจาก รัฐบาลไทย