“เพื่อไทย” มั่นใจตั้ง รบ.ไม่สะดุด รบ.ข้ามขั้วจุดเริ่มต้นขัดแย้ง ?
“ พรรคเพื่อไทย ถอนตัว MOU 8 พรรคร่วม เดินหน้าตั้งรัฐบาลไร้พรรคก้าวไกลในสมการ มั่นใจจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แม้เจอสารพัดโรคเลื่อน จับตาประชุมรัฐสภารอบหน้า 16 ส.ค.นี้”
ในที่สุด “สัญญาใจ” ระหว่างขั้นการเมืองฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ก็ถูกฉีกไปเป็นที่เรียบร้อย เมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศขอถอนตัวออกจาก “MOU 8 พรรคร่วม” พร้อมระบุชัดว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในสมการนี้ ซึ่งในแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย ได้ร่ายยาวถึงเหตุผลที่ต้องตัดสินใจเช่นนี้ว่าเป็นการ “เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ “ และพรรคเพื่อไทย จะเสนอชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 4 ส.ค.2566
ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ พรรคเพี่อไทยขอแสดงความจริงใจต่อเพื่อมิตรทุกพรรคการเมือง และสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งพี่น้องประชาชน ว่า นี่คือแนวทางที่จะรักษาสถาบันสำคัญของชาติให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งประเทศและช่วยผลักดันความต้องการของประชาชน ภายใต้ข้อจำกัดและเส้นทางที่ยากลำบากนี้ไว้ได้ เพื่อให้ภารกิจนำพาประเทศพ้นวิกฤต สร้างสรรค์ประชาธิปไตย แก้ไขความขัดแย้ง คืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ปลดล็อกพันธนาการจากกลไกที่ไม่เป็นปกติให้คืนสู่ความปกติ” ซึ่งหลักใหญ่ใจความก็คือการฉีก MOU ที่ 8 พรรคพันธมิตร ได้ร่วมลงนามกันก่อนหน้านี้
คำถามที่ตามมาก็คือหลังผลักให้พรรคก้าวไกล ไปเป็นฝ่ายค้านแล้วจะมีพรรคการเมืองใดบ้างที่พรรคเพื่อไทยดึงเข้าร่วม
รัฐบาล และโหวตให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ทันที่พรรคเพื่อไทยจะได้แถลงข่าว ปรากฎว่า ศาลรัฐธรรนูญ ได้เลื่อนพิจารณาคำร้อง ของผู้ตรวจการแผ่นดินปมเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกฯ รอบ 2 ตามมาด้วยคำสั่งของประธานรัฐสภา ให้เลื่อนกระบวนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนพรรคเพื่อไทยต้องประกาศเลื่อนการแถลงจัดตั้งรัฐบาลออกไปก่อนและตามมาด้วยกระแสข่าวว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เลื่อนการเดินทางกลับไทยจากเดิมมีกำหนดวันที่ 10 ส.ค.นี้
สารพัด “โรคเลื่อน” ที่เกิดขึ้นพร้อมกันไม่เพียงทำให้กระบวนการโหวตนายกรัฐมนตรี และการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของไทย ต้องล่าช้าออกไปอีก แต่ยังทำให้เกิดกระแสข่าวลือมากมายในทางการเมือง ท่ามกลางการจับตาว่า หากเกิดการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วจริง จะเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่หรือไม่ เพราะหากจับสัญญาณอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนบางส่วน ดูเหมือนจะไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทย
แต่หากถามความเห็นของ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อย่าง “ภูมิธรรม เวชยชัย” ยังคงมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แม้นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ปมเกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่ง นายเศรษฐา ได้ชี้แจงไปแล้ว พร้อมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น พร้อมย้ำว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในวิกฤต และมีความขัดแย้งในมิติต่างๆ หากได้ตัวนายกรัฐมนตรี จะเป็นกระบวนการที่สร้างความเชื่อมั่นและทำงานได้อย่างดีที่สุด และกระบวนการนี้ยังมีการพูดคุยกับหลายพรรคการเมือง
ปฎิทินการเมืองนับจากนี้คงต้องจับตาไปที่การประชุมรัฐสภารอบหน้า ซึ่ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา มี
คำสั่งนัดประชุมในวันที่ 16 ส.ค.2566 และคงต้องลุ้นกันอีกว่า คนไทยจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือ ต้องเจอกับโรคเลื่อนต่อไปอีก...
เรียบเรียงโดย
ปุลญดา บัวคณิศร