ส่องนโยบาย "ชัชชาติ" ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำกรุงเทพฯต้องเป็นเมืองน่าอยู่
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 8 กำลังจะก้าวขึ้นมานั่งเป็น “ผู้ว่าฯกทม.คนที่ 17” ของประเทศไทย ชูนโยบายเพื่อคนกทม. "กรุงเทพฯต้องเป็นเมืองน่าอยู่"
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 8 กำลังจะก้าวขึ้นมานั่งเป็น “ผู้ว่าฯกทม.คนที่ 17” ของประเทศไทย โดย รศ.ดร.ชัชชาติ เจ้าของฉายา "ผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี" ยืนยันว่า ทันทีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง จะนำนโยบายที่หาเสียงไว้กว่า 200 นโยบาย มาเริ่มทำทันที
และพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่าย ด้วยการรับฟังและนำนโยบายของผู้สมัครทั้งหมดมาประมวลผลแล้วดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด เนื่องจาก กทม.ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง จึงต้องทำงานอย่างเต็มที่ที่สุด
วันนี้ TNN ONLINE พาไปย้อนดูนโยบายของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ กับคำสัญญาที่เขาได้ให้ไว้กับชาวกรุงเทพฯ กัน
สำหรับนโยบายของ “ชัชชาติ” นั้น วางโจทย์หลักในการออกแบบนโยบายให้ “กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” โดยใช้ดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ (The Global Liveability Index) ของ Economist Intelligence Unit (EIU) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการจัดกลุ่มนโยบายและดัดแปลงให้ครอบคลุมบริบทของ กรุงเทพฯจนนำมาสู่ “กรุงเทพฯ 9 ดี” หรือ “นโยบาย 9 มิติ” ดังนี้
1. สิ่งแวดล้อมดี - สะอาดใกล้บ้าน เข้าถึงพื้นที่สีเขียวภายใน 15 นาที
2. สุขภาพดี - ดูแลสุขภาพเชิงรุก ปรับปรุงการบริหารจัดการ พาหมอไปหาประชาชน
3. เดินทางดี - เชื่อมต่อคล่องตัว เข้าถึงได้ ราคาถูก ราคาเดียว
4. ปลอดภัยดี - ปลอดภัยทุกที่ทุกเวลา ลดจุดเสี่ยง เพิ่มความพร้อมในการรับมือเหตุฉุกเฉิน
5. บริหารจัดการดี - ประชาชนมีส่วนร่วมโปร่งใส ไม่ส่วย มีประสิทธิภาพ
6. โครงสร้างดี ครอบคลุมทุกเส้นเลือดฝอย ทั้งโครงสร้างการระบายน้ำ ที่พักอาศัย และผังเมือง
7. เศรษฐกิจดี - ทำกรุงเทพฯ ให้ถูกลง สร้างโอกาส สร้างรายได้ ขยายศักยภาพเศรษฐกิจเมือง
8. สร้างสรรค์ดี - ที่ไหนก็สร้างสรรค์ พิพิธภัณฑ์ พื้นที่สาธารณะ ห้องสมุดดิจิทัล และพื้นที่งานศิลปะ
9. เรียนดี - ยกระดับการดูแล เพิ่มโอกาส เพิ่มเวลาให้ครู นักเรียน ผู้ปกครอง
จากโจทย์ดังกล่าวนั้น จึงนำมาสู่นโยบายการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ด้วย 4 หัวข้อหลัก ดังนี้
ทำกรุงเทพฯ ให้ถูกลง ด้วยนโยบายดังต่อไปนี้
เพราะเมืองคือคนถ้าคนอยู่ไม่ได้เมืองก็อยู่ไม่ได้ค่าครองชีพที่สูงขึ้นรายได้เพิ่มน้อยกว่ารายจ่าย กทม. จะต้องมีบทบาทในการดูแลค่าครองชีพของประชาชนใช้ทรัพยากรที่ กทม. มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมาสร้างโอกาสสร้างรายได้ให้คนกรุงเทพฯทุกระดับชั้น
- รถเมล์คุณภาพราคาถูกราคาเดียว ไม่คิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนเมื่อเปลี่ยนรถเปลี่ยนระบบ
- พัฒนาห้องเช่าราคาถูกใกล้แหล่งงานสำหรับผู้มีรายได้น้อย และนักเรียนจบใหม่ (Housing Incubator)
- ลดรายจ่ายด้านสุขภาพยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขและเพิ่มการรักษา เช่น คลินิกกายภาพโรคคนเมือง คลินิกจิตวิทยาปรึกษา สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน คลินิกสุภาพสตรี เพิ่มเวลาเพิ่มทรัพยากรเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงง่ายและใช้บริการได้อย่างสะดวก
- ลดรายจ่ายพ่อแม่ พัฒนาศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็ก ให้มีคุณภาพใกล้ชุมชนและแหล่งงาน
- น้ำดื่มสะอาดปรับปรุงตู้กดน้ำสาธารณะให้ปลอดภัยเพื่อสุขภาพของคนกรุงเทพฯ
- ลดค่าเช่าแผงค้า หมุนเวียนแผงขายเต็มศักยภาพเพิ่มพื้นที่ขายเพื่อให้ตลาดกทม. เป็นพื้นที่การค้าสำหรับทุกคน
- เลิกส่วย รีดไถ ใต้โต๊ะ ตรวจสอบและติดตามการขออนุญาตผ่าน Tracking system ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดการใช้ดุลยพินิจเจ้าหน้าที่
- รถไฟฟ้าสายสีเขียว ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด
ทำกรุงเทพฯ ให้ปลอดภัย ด้วยนโยบายดังต่อไปนี้
เพราะเมืองคือคนชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคือสิ่งสำคัญที่สุดของเมืองการทำกรุงเทพฯให้ปลอดภัยจึงเป็นรากฐานที่สำคัญที่กทม. ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับประชาชน
- เพิ่มจุดสว่างปลอดภัยที่ป้ายรถเมล์ทั่วกรุง ร่วมกันดูแลความพร้อม ความสมบูรณ์ของไฟแสงสว่างทั่วกรุงกับการไฟฟ้านครหลวง
- ตรวจสอบและปรับปรุงทางข้ามให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ทาสีให้ชัดเจนติดป้ายเตือนแสงสว่างสัญญาณไฟกดปุ่มคนข้ามให้ครบถ้วน
- ฐานข้อมูลพื้นที่จุดเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงจากสารเคมี ความเสี่ยงจากมลพิษ โรงงานอุตสาหกรรม ความเสี่ยงจากอาคารสิ่งปลูกสร้างเก่า (BKK Risk Map)
- ทางเท้าเรียบ เดินปลอดภัย 1,000 กม. ทั่วกรุง
- สายสื่อสารลงดินไม่ซ้ำซ้อน สะท้อนต้นทุนไม่กระทบประชาชน
- ปลูกต้นไม้ล้านต้นสร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่น
- ปลอดภัยจากน้ำท่วม ปรับปรุงซ่อมแซมแก้ฟันหลอคันกั้นน้ำริมแม่น้ำ และคลองสายหลัก เพื่อป้องกันปัญหาน้ำหนุนไหลเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือน
- คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย เพื่อช่วยดูแลปัญหาเฉพาะตามความต้องการ เช่น ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการใช้ยาหรือฮอร์โมน ให้คำปรึกษาเรื่องการแปลงเพศ
ทำกรุงเทพฯ ให้สะดวกสบาย ด้วยนโยบายดังต่อไปนี้
เพราะเมืองคือคนเมืองต้องไม่เป็นภาระให้กับผู้อยู่อาศัย แต่ต้องเป็นตัวช่วยให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกราบรื่นในทุกๆ วัน ตั้งแต่ตื่นจนนอน ตั้งแต่เปิดจนปิด
- เพิ่มเรือเพิ่มรถเมล์ไฟฟ้าเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะหลักสร้างความครอบคลุมในการเข้าถึงขนส่งสาธารณะ สร้างจุดเชื่อมต่อ (hub ) เพื่อเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สะดวกสบาย
- เปิดข้อมูลการเดินทางทั้งระบบรถรางเรือที่อยู่ในกรุงเทพฯ ให้เป็นสาธารณะ
- บริหารจัดการจราจร ทั้งโครงข่ายให้คล่องตัวและกวดขันวินัยจราจร
- บริการหมอถึงบ้านผ่าน Telemedicine ลดภาระของผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาต่อเนื่องในการเดินทางไปโรงพยาบาล
- รักษา ส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อด้วยการบูรณาการข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลในกทม. และศูนย์บริการสาธารณสุข
- สวนสาธารณะ 15 นาที เพิ่มความครอบคลุมและการกระจายตัวของสวนสาธารณะและลานกีฬาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที
- บริการ กทม. on cloud ปรับรูปแบบการบริการของที่เกี่ยวข้องกับกทม. เช่น ยื่นเอกสารขออนุญาตทำบัตรฯ ชำระค่าธรรมเนียม ฯลฯ ให้อยู่ on cloud ทำได้จากที่บ้านไม่ต้องมาสำนักงานเขต
- พัฒนาโครงสร้างสาธารณะรองรับการใช้งานของคนพิการ เช่น ทางเท้าพื้นที่สำนักงานเขตและสวนสาธารณะ Universal Design
- ขุดลอกท่อระบายน้ำ 3,000 กม. ลดโอกาสการเกิดน้ำท่วมขังจากการระบายน้ำไม่ทัน
ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่ของทุกคน ด้วยนโยบายดังต่อไปนี้
เพราะเมืองคือคนเป็นพื้นที่ให้ทุกคนสามารถทำกิจกรรมและใช้ชีวิต เราจึงตั้งใจออกแบบกรุงเทพฯให้มีพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย สอดคล้อง และครอบคลุมกับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนทุกคนในกรุงเทพฯ
- ขยายเวลาเปิด- ปิดสวน เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นอุปกรณ์ในการออกกำลังกาย เพิ่มการเข้าถึงเช่นเส้นทางรถขนส่งสาธารณะมายังสวนและพื้นที่สาธารณะ
- จัดสรรพื้นที่กรุงเทพฯให้งานศิลปะและศิลปะการแสดง (ละครดนตรี) ให้ทุกมุมเมืองเป็นพื้นที่ศิลปะ
- เปลี่ยนศาลาว่าการฯ และลานคนเมืองสู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ
- เพิ่มฟังก์ชันให้ห้องสมุดกทม. ทั้ง 36 แห่งเป็น Co-working Space
- ส่งเสริมชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพกาย และส่งเสริมสุขภาพใจผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน (Active Aging)
- พัฒนา 1,034 ลานกีฬากับประชาชนและเอกชนในพื้นที่
- เพิ่มห้องน้ำสาธารณะให้มีคุณภาพ มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สายชำระ และห้องอาบน้ำ ในพื้นที่สาธารณะ ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน
ชูนโยบายดูแล "เส้นเลือดฝอย" ให้แข็งแรง
รศ.ดร.ชัชชาติ อธิบายว่า การบริหารกรุงเทพฯ เปรียบเสมือนการทำงานของเส้นเลือด 2 ระบบ ทั้งเส้นเลือดใหญ่ และเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดใหญ่ คือ การลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ เส้นเลือดฝอย คือ การลงทุนกับสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว ทั้งสองต้องทำงานสมดุล เมืองจึงจะมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมา กทม.ลงทุนไปมหาศาลกับเส้นเลือดใหญ่ ไม่ค่อยใส่ใจเส้นเลือดฝอย ทั้งที่สองระบบส่งผลถึงกัน จึงเชื่อว่า "การดูแลเส้นเลือดฝอยให้แข็งแรง" คือการทำน้อยแต่ได้เยอะ และจะทำให้คุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น
เราอาจจะมีสวนสาธารณะหลักขนาดใหญ่แบบสวนลุม ที่มีสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่อุปกรณ์ครบครัน ในขณะที่ลานกีฬาและสนามเด็กเล่นเล็ก ๆ ใต้สะพานของชุมชน ที่เด็กเล่นทุกวันอยู่ในสภาพทรุดโทรม ไม่ได้รับการดูแล
เรามีเส้นเลือดใหญ่ในการระบายน้ำผ่านอุโมงค์ยักษ์ขนาดใหญ่มูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท ในขณะที่เส้นเลือดฝอยที่เป็นท่อระบายน้ำตามชุมชนต่าง ๆ หลายที่อุดตัน ระบายไม่ได้
เรามีโรงพยาบาลขนาดใหญ่กระจุกตัวในเขตเมืองชั้นใน ในขณะที่ศูนย์สาธารณสุขและศูนย์สุขภาพชุมชนยังมีไม่เพียงพอและขาดแคลนอัตราบุคลากร
เรามีรถไฟฟ้าหลากหลายสี แต่คนส่วนใหญ่ถูกผลักออกจากแนวรถไฟฟ้าเพราะซื้อไม่ไหวและเรายังต้องเข้าคิวรอรถตู้ มอเตอร์ไซค์รับจ้างอีกนานเพื่อพาเรากลับถึงบ้าน
เรามีโรงเรียนที่มีคุณภาพระดับโลกหลายแห่ง ในขณะที่โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์เด็กอ่อน ในชุมชนต่าง ๆ ขาดแคลนทั้งงบประมาณและบุคคลากร
ระบบเส้นเลือดฝอยที่มีปัญหา สุดท้ายแล้วจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและประสิทธิภาพของเส้นเลือดใหญ่ เด็กนักเรียนแข่งกันเข้าโรงเรียนดัง ๆ แทนที่จะเรียนโรงเรียนดีใกล้บ้าน คนไข้แออัดที่โรงพยาบาลศูนย์แทนที่จะคัดกรองก่อนที่ศูนย์สาธารณสุข น้ำรอการระบายที่ไปไม่ถึงอุโมงค์
การแก้ไขปัญหา “เส้นเลือดฝอย” อาจจะไม่น่าตื่นเต้น เร้าใจเหมือนกับการก่อสร้างโครงการใหญ่ ๆ อย่างอุโมงค์ยักษ์ แต่คือเรื่องสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเราดีขึ้น
สิ่งที่สำคัญที่สุดของการแก้ปัญหา “เส้นเลือดฝอย” คือ ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ และ ความตั้งใจจริง
ข้อมูลจาก www.chadchart.com
ภาพจาก TNN ONLINE