ลำปางภัยแล้งส่อวิกฤต-อ่างแม่จางแห้งวัดเก่าใต้น้ำโผล่
ทหารยังคงออกให้การช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขณะอ่างแม่จางน้ำเหลือ 16 เปอร์เซ็นต์วัดเก่าอายุกว่า 100 ปีโผล่
วันที่ 18 มีนาคม 2564 สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดลำปาง ทวีความรุนแรงขยายตัวในพื้นที่หลายอำเภอ โดยที่บ้านนาเบี้ย หมู่ 7 ต.นาโป่ง อ.เถิน พบอ่างกักเก็บน้ำแห้งขอด ขาดแหล่งน้ำดิบนำมา ผลิต น้ำประปาหมู่บ้าน สัตว์เลี้ยงเช่น โค กระบือ เกษตรกรต้องต้อนเดินหาแหล่งน้ำไกลกว่า 3 กิโลเมตร
ขณะที่ ในพื้นที่ บ้านนาสัก ตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ นายสว่าง วงศ์นาสัก ผู้ใหญ่บ้าน นำผู้สื่อข่าวดูอ่างเก็บน้ำแม่จาง ซึ่งใช้ผลิตน้ำประปา และเป็นแหล่งทำการประมง ของชาวบ้าน ในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน ซึ่งตอนนี้น้ำในอ่างเหลือเพียง 16 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ต้องถนอมน้ำไว้ทำน้ำประปา ขณะเดียวกัน วัดสบม่ำ ซึ่งเป็น วิหาร วัดเก่าแก่ อายุประมาณ 100 ปี หลังจาก วัดแห่งนี้ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ อยู่ใต้น้ำ ของอ่าง เก็บน้ำแม่จาง โผล่ขึ้นมา ให้คนได้เห็น หลังจากสถานการณ์ภัยแล้ง ในพื้นที่ส่อเค้าวิกฤตหนัก ซึ่งปกติวัดเก่านี้จะไม่โผล่ขึ้นมา แต่เพราะน้ำแห้งอย่างมากวัดเก่าจึงโผล่ขึ้นมา ให้เห็น
อย่างไรก็ตาม อ่างแม่จางได้ ทำการก่อสร้างเพื่อกักเก็บน้ำ ทำให้หมู่บ้านนี้ต้องอพยพไปอยู่ที่หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ ในเขตตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งห่างจากจุดเดิมประมาณ 10 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็ได้ทำการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่จาง ขึ้นมา และระดับน้ำก็ได้สูงท่วม จนไปท่วม หมู่บ้านดังกล่าวและทำให้หมู่บ้านและวัดสบม่ำแห่งนี้จมอยู่ใต้น้ำ จนกระทั่งล่าสุดพบว่า ซาก โครงสร้าง ของหมู่บ้านและวัดเก่าแก่กลางน้ำ โผล่ ขึ้นมากลางหมู่บ้านอีกครั้งในรอบ 42 ปี หลังได้มีการปล่อยน้ำเข้ามาเมื่อปี 2522 และปรากฎ เป็น ซาก บ้าน วิหาร และ ชุมชนเก่าแก่ ปรากฏให้เห็น หลังจมอยู่ใต้น้ำมานานหลายปี
ส่วนด้าน ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 32 เร่งให้การช่วยเหลือประชาชน ผู้ประสบภัยแล้งในพื้นที่ บ้านท่าแหน หมู่ 2 , บ้านจว้าก หมู่ 5 และ บ้านแม่ทะม่วงคำ หมู่ 9 ตำบลแม่ทะ อำเภอแม่ทะ โดยจัดรถบรรทุกน้ำ จำนวน 3 คัน (ขนาด 10,000 ลิตร จำนวน 1 คันและขนาด 6,000 ลิตรจำนวน 2 คัน) บรรทุกน้ำสะอาด จำนวนปริมาณรวม 22,000 ลิตร เข้าให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยเติมในแท้งน้ำกลางของแต่ละหมู่บ้านเพื่อให้ประชาชนได้รับน้ำสะอาดที่นำมาแจกจ่ายอย่างทั่วถึงทุกครัวเรือนต่อไป