พบแหล่งภาพเขียนสีโบราณอายุกว่า 4,000 ปี ในอุทยานแห่งชาติภูเวียง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยค้นพบแหล่งภาพเขียนสีโบราณอายุกว่า 4,000 ปี ในอุทยานแห่งชาติภูเวียง
โดยนายสุธรรม วงษ์จันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเวียง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2567 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานธรณีขอนแก่น และผู้เชี่ยวชาญจากสำนักโบราณคดีที่ 8 ขอนแก่น นำโดยนางสาวทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ ได้ร่วมสำรวจและค้นพบแหล่งภาพเขียนสีโบราณแห่งใหม่ในพื้นที่อุทยานฯ จำนวน 3 แหล่ง
แหล่งแรก คือ "เพิงอีแข่" ตั้งอยู่บริเวณหินลาดผีหลอก พบภาพเขียนลักษณะเส้นเชิงสัญลักษณ์อยู่ใต้เพิงหินที่มีรูปร่างคล้ายจระเข้
แหล่งที่สอง คือ "ถ้ำเจริญ" ตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์ ภว.2 (หัวภูชน) พบภาพเขียนสีบนผนังเพิงหินขนาดใหญ่ ประกอบด้วยรูปฝ่ามือ รูปคนขนาดความสูงประมาณ 80 เซนติเมตร มีภาพคนตัวเล็กซ้อนทับภาพคนตัวใหญ่ และร่องรอยรูปภาพเชิงสัญลักษณ์
แหล่งที่สาม คือ "เกิ้งหมาแดง" ตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์ ภว.1 (ปากช่อง) พบภาพเขียนสีแดงรูปสุนัขจิ้งจอกและภาพฝ่ามือบนเพิงหินขนาดกลาง
จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าภาพเขียนสีเหล่านี้มีอายุประมาณ 4,000-1,500 ปี นับเป็นหลักฐานสำคัญทางโบราณคดีที่แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในบริเวณนี้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
สำหรับอุทยานแห่งชาติภูเวียง มีความสำคัญทางโบราณคดีมาอย่างยาวนาน นอกจากเป็นแหล่งขุดค้นพบซากไดโนเสาร์ที่สำคัญของประเทศไทยแล้ว ยังมีการค้นพบแหล่งภาพเขียนสีโบราณอย่างต่อเนื่อง และการค้นพบครั้งนี้ ทางอุทยานฯ จะประสานงานกับสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและพิจารณาเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ต่อไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นการตอกย้ำความสำคัญของอุทยานแห่งชาติภูเวียงในฐานะแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศไทย
ข้อมูลและภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ข่าวแนะนำ