TNN เขื่อนเจ้าพระยาชัยนาท เอาอยู่! พร้อมรับสถานการณ์น้ำ “พายุยางิ”

TNN

ภูมิภาค

เขื่อนเจ้าพระยาชัยนาท เอาอยู่! พร้อมรับสถานการณ์น้ำ “พายุยางิ”

เขื่อนเจ้าพระยาชัยนาท เอาอยู่! พร้อมรับสถานการณ์น้ำ “พายุยางิ”

“นฤมล” ลงพื้นที่ติดตามอุทกภัยชัยนาท มั่นเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมรับสถานการณ์น้ำ อิทธิพลจาก “พายุยางิ”

วันนี้ (8 ก.ย.67) ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชัยนาท โดยมี นายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นายวิทยา ชพานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดชัยนาท ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนร่วมให้การต้อนรับ


นางนฤมล กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนนำนโยบายการบริหารจัดการน้ำเสนอต่อรัฐสภา ในวันที่ 12 -13 กันยายนนี้ สำหรับสถานการณ์น้ำเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายมีความกังวล โดยเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุน้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งยังมี “พายุยางิ” ที่กำลังจะเข้าไทยในเร็วๆ นี้ อาจส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

ด้าน นายกฯ แพทองธาร ห่วงใยสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดชัยนาทและใกล้เคียง วันนี้ได้รับฟังการรายงานแนวทางการบริหารจัดการน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มั่นใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำที่จะเกิดจากพายุยางิได้เป็นอย่างดี 


หลังจากนี้ กรมชลประทานจะมีการชี้แจงมาตรการรองรับน้ำเพิ่มเติมโดยละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้ ได้สั่งการเตรียมเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมตลอด 24 ชม. และเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ เข้าใจสถานการณ์ในปัจจุบันให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมเตรียมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น คลายความกังวล ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในพื้นที่จังหวัดชัยนาทหรือประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดต่าง ๆ และสามารถลดผลกระทบที่เกิดกับประชาชนให้น้อยที่สุดตามนโยบายของรัฐบาล


สำหรับสถานการณ์น้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ในวันที่ 8 กันยายน 2567 ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C2 นครสวรรค์ที่ 1,481 ลบ.ม./วินาที ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่อัตรา 1,498 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำทรงตัวมาเป็นเวลา 5 วันต่อเนื่อง สำหรับระดับน้ำเหนือเขื่อน +16.28 ม.รทก. เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะอัพเดทข้อมูลให้ทราบเป็นระยะ จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด


ข้อมูลจาก: กรมชลประทาน 

ภาพจาก:  กรมชลประทาน 

ข่าวแนะนำ