TNN นักท่องเที่ยวพิสูจน์ให้เห็นกับตา "รอยเท้าไดโนเสาร์" ภูหินร่องกล้า

TNN

ภูมิภาค

นักท่องเที่ยวพิสูจน์ให้เห็นกับตา "รอยเท้าไดโนเสาร์" ภูหินร่องกล้า

นักท่องเที่ยวพิสูจน์ให้เห็นกับตา รอยเท้าไดโนเสาร์ ภูหินร่องกล้า

นักท่องเที่ยวพากันพิสูจน์รอยเท้าไดโนเสาร์ ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า หลังมีผู้โพสต์รูปร่องรอยคล้ายรอยเท้าไดโนเสาร์บนช่องทางโซเชียล ขอให้มีการตรวจสอบ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชน

ร่องรอยคล้ายรอยเท้าไดโนเสาร์อยู่ที่บริเวณใกล้เคียงกับลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ใกล้ลานกางเต็นท์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และได้มีการจัดทำแนวกันพื้นที่และอยู่ระหว่างการตรวจสอบตามหลักวิชาการ 


โดยหลังจากมีนักท่องเที่ยวนำภาพไปเผยแพร่ทางโซเชียล ก็มีนักท่องเที่ยวและผู้สนใจเกี่ยวกับโลกดึกดําบรรพ์พากันมาพิสูจน์ด้วยตาตัวเอง เป็นรอยคล้ายรอยเท้าไดโนเสาร์กลุ่มเดินสองขา และกลุ่มเดินสี่ขา ขนาดความกว้างและยาวที่ 30 เซนติเมตร รอยเล็ก 20 เซนติเมตร ซึ่งมีหลายรอยเท้ากระจัดกระจายอยู่บนลานหิน


นักท่องเที่ยวพิสูจน์ให้เห็นกับตา รอยเท้าไดโนเสาร์ ภูหินร่องกล้า


นักท่องเที่ยวพิสูจน์ให้เห็นกับตา รอยเท้าไดโนเสาร์ ภูหินร่องกล้า


นายลำยอง ศรีเสวก หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าได้ประสานกับทางกรมทรัพยากรธรณี เพื่อขอให้นักวิชาการมาช่วยตรวจสอบ ซึ่งหากเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์จริงก็จะขอข้อมูลทางวิชาการ คำแนะนำ และการจัดการพื้นที่ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ร่องรอยดังกล่าวได้รับความเสียหายจากน้ำที่ไหลกัดเซาะแผ่นหิน และเตรียมพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าต่อไป


มีข้อมูลว่าก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศกรมทรัพยากรธรณี เรื่องแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนแหล่งที่ 22 พบแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ลำน้ำหมันแดง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า หลังจากเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549 นักธรณีวิทยากรมทรัพยากรธรณี และ ดร.ฌอง เลอ ลูฟ ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์ จากประเทศฝรั่งเศส สำรวจพบรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ “คาร์โนซอร์” เป็นรอยเท้า 3 นิ้ว จำนวนกว่า 17 รอย เรียงเป็นแนวทางเดิน 4 แนวทางเดิน สภาพมีความชัดเจน ขนาดความกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร มีความยาวช่วงก้าวประมาณ 120 ถึง 150 เมตร สภาพทางภูมิศาสตร์ของแหล่งซากดึกดำบรรพ์ เป็นลานหินทรายริมน้ำหมันแดง ซึ่งเป็นลำห้วยมีน้ำไหลตลอดปี และในพื้นที่เป็นป่าดิบเขา รอยเท้าไดโนเสาร์ พบในหินทรายเนื้อละเอียด สีน้ำตาลและสีม่วงแดง หมวดหินภูพาน กลุ่มหินโคราช ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 120 ล้านปี 


ข้อมูลและภาพ : ชนกพงศ์ คล้ายขำ ผู้สื่อข่าว TNN จ.พิษณุโลก


ข่าวแนะนำ