TNN อย่าตื่นตระหนก! ยังไม่พบการฟุ้งกระจายของ "ซีเซียม-137" ล่าสุดสั่งปิดโรงงานแล้ว

TNN

ภูมิภาค

อย่าตื่นตระหนก! ยังไม่พบการฟุ้งกระจายของ "ซีเซียม-137" ล่าสุดสั่งปิดโรงงานแล้ว

อย่าตื่นตระหนก! ยังไม่พบการฟุ้งกระจายของ ซีเซียม-137 ล่าสุดสั่งปิดโรงงานแล้ว

อย่าตื่นตระหนก! ยังไม่พบการฟุ้งกระจายของ "ซีเซียม-137" ล่าสุดสั่งปิดโรงงานแล้ว

อย่าตื่นตระหนก! ยังไม่พบการฟุ้งกระจายของ "ซีเซียม-137" ล่าสุดสั่งปิดโรงงานแล้ว



ความคืบหน้าล่าสุดกรณี สาร ซีเซียม 137 หายไปจากโรงไฟฟ้า  ที่บริเวณร้านรับซื้อของเก่าแห่งหนึ่ง  ในพื้นที่หมู่ 5 ต.หัวหว้า  อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี


โดยจากการตรวจสอบ โรงงานหลอมเหล็ก  2 แห่ง ภายในพื้นที่ ตำบลหนองกี่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และ ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี  วานนี้ (19 มี.ค.) โดยใช้เครื่องมือของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เข้าตรวจวัดสแกนหารังสีตามกองเศษเหล็ก รวมทั้งเหล็กที่ถูกบีบอัดที่จะเข้าเตาหลอม  


ขณะตรวจสอบพบว่า เครื่องตรวจวัดวัตถุที่มีพบกัมมันตรังสี ซึ่งในทีแรกยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า เป็นซีเซียม 137 ที่หายไปหรือไม่ จึงต้องตรวจสอบอย่างละเอียด ท่ามกลางกองเศษเหล็กมีจำนวนมากยากแก่การนำเครื่องตรวจวัดเข้าถึง



อย่าตื่นตระหนก! ยังไม่พบการฟุ้งกระจายของ ซีเซียม-137 ล่าสุดสั่งปิดโรงงานแล้ว


อย่าตื่นตระหนก! ยังไม่พบการฟุ้งกระจายของ ซีเซียม-137 ล่าสุดสั่งปิดโรงงานแล้ว

ล่าสุดวันนี้ (20 มี.ค.) นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่า ตรวจพบ ซีเซียม-137’ ขณะนี้ถูกหลอมแล้ว แต่ขอให้ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นผู้แถลงเอง พร้อมยืนยันว่าได้ทำการกันพื้นที่ไม่ให้ประชาชนเข้าใกล้โดยรอบโรงงานแล้ว และสั่งปิดโรงงานที่เกิดเหตุทันที 


รายงานเพิ่มเติม  สรุปได้ว่า ฝุ่นโลหะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 มีการปนเปื้อนในบริเวณที่จำกัด และ ถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยืนยันว่า ยังไม่เกิดการแพร่กระจายของสาร ซีเซียม-137 สู่สิ่งแวดล้อม ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบและบริเวณใกล้เคียง 


ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ให้รับข้อมูลข่าวสารจากเจ้าหน้าที่โดยตรงเท่านั้น 



สำหรับไทม์ไลน์ การหายไปของ ซีเซียม 137 มีดังนี้


- 10 มี.ค. เวลา 18.30 น. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้รับแจ้งเหตุกรณีวัสดุกัมมันตรังสีสูญหาย 


- 11 มี.ค. เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโดยละเอียดด้วยเครื่องมือวัดทางรังสีในพื้นที่เกิดเหตุ


- 14 มี.ค. ปรากฎข่าวการหายไปเป็นครั้งแรก จากโรงไฟฟ้าเอกชนแห่งนี้


- 15 มี.ค. เจ้าหน้าที่ยังติดตามตรวจสอบค้นหา 


- 19 มี.ค. อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยืนยันว่า วัตถุซีเซียม-137 ได้ถูกหลอมไปแล้ว


- 20 มี.ค. ผู้ว่าฯ จ.ปราจีนบุรี แถลงความคืบหน้า  ยืนยันอีกว่า ซีเซียมถูกหลอมไปแล้ว พร้อมยืนยันว่า ยังไม่พบการฟุ้งพระจายของสารซีเซียมในอากาศ


สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ จะมีการสอบสวนว่าวัสดุหายไปได้อย่างไร และนำเข้าสู่โรงหลอมได้อย่างไร ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ามีการส่งไปที่จังหวัดชลบุรีนั้น จากการตรวจสอบโรงงานดังกล่าวเมื่อเช้านี้ ไม่พบสารซีเซียม


"ขณะนี้ 50-50 ว่า ฝุ่นแดงปนเปื้อนซีเซียมที่พบในโรงงานนี้ มาจากซีเซียมทำหายจริงหรือไม่ มาตรการต่อไปจะสืบหาต่อ ทั้งนี้ ตามกฎหมาย หากทราบว่าอุปกรณ์รังสีสูญหายต้องแจ้งโดยพลัน แต่โรงงานดังกล่าวแจ้งหายเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ทั้งนี้ โรงงานนี้ถือครองวัสดุนี้มาตั้งแต่ปี 2538 และวัสดุอยู่สูงมาก ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุว่าวัสดุดังกล่าวหายไปได้อย่างไร" นายเพิ่มสุข กล่าว


นายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี กล่าวว่า ฝุ่นเหล็กถูกบรรจุใส่ถุง มีน้ำหนักคล้ายผงเกลือ และอยู่ในพื้นที่ปิด ดังนั้นลมหรือสิ่งแวดล้อมไม่สามารถทำให้ฝุ่นฟุ้งออกไปได้ ขณะเดียวกันโรงงานก็เป็นระบบปิด โดยยืนยันว่าระยะห่างรัศมี 2 เมตรก็ปลอดภัยจากสารแล้ว ทั้งนี้โรงหลอมได้มีการหลอมเหล็กมาตั้งแต่วันที่ 4-5 มี.ค.ที่ผ่านมา


ด้าน พล.ต.ต.วินัย นุชชา ผบก.ภ.จว.ปราจีนบุรี กล่าวว่า เกิดความผิดปกติกับซีเซียม-137 มาตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. 66 แต่ทางโรงงานมีการแจ้งความเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตำรวจได้เร่งทำการสืบสวน เบื้องต้นมองว่าน่าจะเป็นพนักงานในโรงงานนำออกมา อย่างไรก็ดี ซีเซียม-137 ในประเทศไทยทั้งหมดได้มีการขึ้นทะเบียน และจากการตรวจสอบซีเซียมที่เหลือยังไม่มีการสูญหาย จึงคาดการณ์เบื้องต้นว่า ฝุ่นแดงที่พบว่าปนเปื้อนซีเซียมนั้น อาจมาจากการหลอมของซีเซียมที่หายไป



ด้าน นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Sonthi Kotchawat ระบุว่า ถ้าแท่งโลหะที่บรรจุ Cs137 ถูกหลอมรวมกับเศษเหล็กในโรงงานหลอมเหล็กแล้ว ผลกระทบที่ตามมา คือ

1. ฝุ่นขนาดเล็กของ Cs137 ที่ปล่อยออกมาจากปลายปล่องจะกระจายสู่บรรยากาศและตกลงสู่แหล่งน้ำ ดินที่อยู่รอบๆโรงงานและเกิดการปนเปื้อนเข้าสู่วงจรอาหารได้แก่ ผัก ผลไม้ อา หารจากแหล่งน้ำใกล้เคียงและอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร เป็นต้นรวมทั้งอาจมีบางส่วนที่ประชาชนหายใจเข้าไปด้วย สารนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะและบางส่วนจะตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ,ตับ,ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมคือเป็นมะเร็งนั่นเอง


2. หากโรงงานหลอมเหล็กมีอุปกรณ์ควบคุมมล พิษทางอากาศ เช่น Baghouse Filter โดยจะทำการกรองฝุ่นเหล็กขนาดเล็กที่ปนเปื้อนสาร Cs137 หรือที่เรียกว่าฝุ่นแดงไว้ในถุงกรองในปริมาณมากซึ่งโรงงานหลอมเหล็กจะขายฝุ่นแดงดังกล่าวให้กับโรงงานประเภท 106 นำไป Recycle เพื่อสกัดเอาธาตุสังกะสีไปใช้ ซึ่งจะทำให้สาร Cs137 แพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้นและเกิดอันตรายต่อประชาชนและระบบนิเวศ


3. เมื่อเข้าเตาหลอมแล้วส่วนหนึ่งจะกลายเป็นขี้เถ้าหนัก (Bottom ash)โดยจะมีอนุภาคของ สาร Cs137 ปนเปื้อนในเถ้าหนักด้วย หากโรง งานนำไปฝังกลบใต้ดินก็อาจปนเปื้อนน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารและน้ำต่อไป

4. เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย (PPE) เพื่อป้องกันการได้รับรังสีและทำการตรวจการปนเปื้อนของสาร Cs137 ภายในโรงงานทุกบริเวณ เช่น เถ้าหนัก ฝุ่นแดง กองเหล็ก เตาหลอม ดินและแหล่งน้ำและฝุ่นละอองในโรงงาน เป็นต้น รวมทั้งต้องตรวจหารังสีปนเปื้อนที่ตัวพนักงานทุกคนด้วย



ซีเซียม-137 (Caesium-137) คืออะไร  


สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลไว้ว่า ซีเซียม-137 (Cs-137) เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม ซึ่งเป็นผลผลิตฟิชชันที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ซีเซียม-137 มีครึ่งชีวิต 30.17 ปี ประมาณ 95% สลายตัวโดยการปลดปล่อยรังสีบีต้าแล้วกลายเป็นแบเรียม-137m (barium-137m) ซึ่งเป็นไอโซโทปกึ่งเสถียร (metastable) หรือไอโซเมอร์ของแบเรียม-137 (137mBa, Ba-137m) 


ส่วนอีก 5% สลายตัวไปเป็นไอโซโทปเสถียรโดยตรง แบเรียม-137m (Ba-137m) สลายตัวให้รังสีแกมมา โดยมีครึ่งชีวิต 2.55 นาที ซีเซียม-137 ปริมาณ 1 กรัม มีกัมมันตภาพรังสี 3.215 เทราเบคเคอเรล (terabecquerel, TBq)


โฟตอนจากไอโซโทปรังสีแบเรียม-137m มีพลังงาน 662 keV สามารถใช้ประโยชน์ในการฉายรังสีอาหาร (food irradiation) ใช้ในด้านรังสีรักษา (radiotherapy) สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง มีการใช้ซีเซียม-137 สำหรับการถ่ายภาพด้วยรังสีทางอุตสาหกรรมไม่มากนัก เนื่องจากเป็นวัสดุที่ไวต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมี เกลือของซีเซียมละลายน้ำได้ดีทำให้ควบคุมความปลอดภัยได้ยาก 


จึงมีการใช้โคบอลต์-60 (Cobalt-60) ในงานด้านการถ่ายภาพด้วยรังสีมากกว่า นอกจากจะเป็นโลหะที่ไวต่อปฏิกิริยาน้อยกว่าแล้ว ยังให้รังสีแกมมาพลังงานสูงกว่า การนำมาใช้งาน เราจะพบซีเซียม-137 ได้ในอุปกรณ์วัดความชื้น เครื่องวัดอัตราการไหลหรืออุปกรณ์ตรวจวัดชนิดอื่นที่ใช้หลักการทำงานคล้ายกัน



คุณสมบัติของซีเซียม-137



ชื่อ     ซีเซียม-137 (Caesium-137)

สัญลักษณ์     137Cs หรือ 137-Cs

จำนวนนิวตรอน     82

จำนวนโปรตอน     55

ครึ่งชีวิต                          30.17 ปี

เกิดจากไอโซโทป             ซีนอน-137 (137Xe, b-)

สลายไปเป็นไอโซโทป     แบเรียม-137m (137mBa)

มวลของไอโซโทป            136.907 u

พลังงานของรังสีบีต้า         1.176 MeV




การนำมาใช้ประโยชน์


มีการนำซีเซียม-137 มาใช้ไม่มากนัก ถ้าปริมาณน้อยๆ จะใช้สำหรับปรับเทียบเครื่องมือวัดรังสี ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาในการวัดความหนาแน่นของเครื่องมือเจาะสำรวจน้ำมัน ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีในการรักษามะเร็ง รวมทั้งใช้ในเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องวัดความหนาของวัสดุ เครื่องวัดการไหลของของเหลว


บริเวณที่มีระดับของซีเซียม-137 สูงที่สุด 10 แห่งแรก มาจากตำแหน่งที่มีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐ ที่ฐานเนวาดา (Nevada Test Site) ซึ่งมีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ชื่อ Simon กับ Harry ในปฏิบัติการ Upshot-Knothole เมื่อปี 1953 และการทดลองระเบิด นิวเคลียร์ชื่อ George กับHow ในปฏิบัติการ Operation Tumbler-Snapper เมื่อปี 1952 


ไอโซโทปกัมมันตรังสีซีเซียมในสิ่งแวดล้อม (Radioactive caesium in the environment)


ในการทดลองอาวุธนิวเคลียร์หรือเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ จะมีไอโซโทปรังสีซ๊เซียม-134 (caesium-134) และซีเซียม-137 (caesium-137) ถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมเล็กน้อย และที่มากที่สุดมาจากอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิล ในอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อปี 2005 ซีเซียม-137 เป็นต้นกำเนิดหลักอย่างหนึ่งที่อยู่ในเขตหวงห้ามรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วย ซีเซียม-134 (caesium-134) ไอโอดีน-131 (iodine-131) สตรอนเชียม-90 (strontium-90) และซีเซียม-137 (caesium-137) แพร่ออกมาจากการระเบิดขิงเครื่องปฏิกรณ์ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับสูง


ในเดือนเมษายนปี 2011 ก็มีการพบไอโซโทปรังสีเหล่านี้ในฝุ่นควัน (plume) ที่รั่วไหลออกมาจากเครื่องปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้า Fukushimaประเทศญี่ปุ่น


การปนเปื้อนของไอโซโทปรังสีซีเซียม-137 ในเยอรมันนีหลังจากเกิดอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิล มีค่าเฉลี่ย 2000 - 4000 เบคเคอเรลต่อตารางเมตร (Bq/m2) ซึ่งเทียบเท่ากับมีซีเซียม-137 ปริมาณ 1 มิลลิกรัมต่อตารางกิโลเมตร หรือมีซีเซียม-137 ทั่วทั้งประเทศเยอรมันนี ประมาณ 500 กรัม


ซีเซียม-137 ต่างจากไอโซโทปรังสีชนิดอื่น และไม่ได้เกิดจากไอโซโทปเสถียร แต่เกิดจากปฏิกิริยาฟิชชันของยูเรเนียม ซีเซียม-137 ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เราสามารถตรวจวัดซีเซียม-137 ได้จากรังสีแกมมาที่ปลดปล่อยออกมา ทำให้สามารถใช้ระบุได้ว่าวัตถุที่บรรจุอยู่ในภาชนะปิด ถูกผลิตขึ้นก่อนการทดลองระเบิดนิวเคลียร์หรือไม่ ซึ่งวิธีนี้นักวิจัยสามารถตรวจสอบไวน์ที่หายาก



ความเสี่ยงต่อสุขภาพของสารกัมมันตรังสีซีเซียม


ซีเซียมสามารถทำปฏิกิริยากับน้ำและกลายเป็นซีเซียมไฮดรอกไซด์ (caesium hydroxide) ซึ่งเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำ ซีเซียมมีคุณสมบัติในทางชีววิทยาคล้ายกับโปแตสเซียม (potassium) และรูบิเดียม (rubidium) เมื่อเข้าไปในร่างกาย ซีเซียมจะกระจายไปทั่วร่างกาย โดยมีความเข้มข้นสูงที่กล้ามเนื้อและกระดูก ซีเซียมมีครึ่งชีวิตทางชีววิทยา (biological half-life) ประมาณ 70 วัน จากการทดลองในสุนัข เมื่อได้รับซีเซียมในครั้งเดียวจำนวน 3800ไมโครคูรีต่อกิโลกรัม (mCi/kg) (คิดเป็นซีเซียม-137 จำนวน 44 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม) สุนัขนั้นตายลงภายใน 3 สัปดาห์


ถ้าบังเอิญได้รับซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกาย ควรรับประทานปรัสเซียนบลู (Prussian blue) ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยาเคมีโดยจับกับซีเซียม ทำให้ขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น 


การควบคุมดูแลซีเซียม-137 ที่ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาที่ไม่รัดกุมพอ อาจจะทำให้เกิดการรั่วไหลของไอโซโทปรังสีและเกิดการเจ็บป่วยจากรังสีได้ กรณีตัวอย่างที่ทราบกันดี ได้แก่ อุบัติเหตุที่ (Goiania accident) ที่มีการทิ้งสารกัมมัตรังสีจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำรังสีรักษาจากคลินิกในเมือง Goiania ประเทศบราซิล ทำให้คนเก็บขยะนำไปขายให้กับคนที่รับซื้อ เนื่องจากคิดว่าเป็นของแปลก กรณีนี้ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการได้รับรังสีจำนวนหลายคน


ซีเซียมที่ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมา จะถูกเก็บอยู่ในภาชนะโลหะ อาจะถูกทิ้งปะปนไปกับโลหะเก่าและถูกนำไปหลอม ทำให้เกิดโลหะผสมที่มีกัมมันตภาพรังสี ตัวอย่างได้แก่ อุบัติเหตุที่ Acerinox accident ในปี 1988 เมื่อบริษัท Acerinox ซึ่งดำเนินกิจการแปรรูปของเก่า (recycling company ) ของสเปน ได้เกิดอุบัติเหตุโดยทำการหลอมซีเซียม-137 จากต้นกำเนิดรังสีแกมมา


ในปี 2009 บริษัทซีเมนต์ของประเทศจีน ในจังหวัด Shaanxi ได้รื้อโรงงานผลิตซีเมนต์เก่าที่เลิกใช้แล้ว โดยไม่ได้ดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติงานกับสารรังสี ทำให้ซีเซียม-137 บางส่วนที่ใช้ในเครื่องมือตรวจวัดซีเมนต์ ถูกส่งไปหลอมรวมไปกับโลหะที่ไม่ใช้แล้ว 8 คันรถที่โรงงานหลอมเหล็ก



ผลกระทบต่อร่างกายหากโดน สารซีเซียม-137 ข้อมูลจาก จากกระทรวงสาธารณสุข


สำหรับสารซีเซียม-137 เป็นกัมมันตภาพรังสี (radioactivity) หากสัมผัสในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจน แต่หากสัมผัสในระยะเวลานานและปริมาณสูงขึ้น จะเริ่มมีผลต่อร่างกาย ทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย หากสัมผัสในปริมาณสูงและยาวนาน อาจเกิดพังผืดที่ปอด เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจกขึ้นในนัยน์ตา ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ 


นอกจากนี้ หากปนเปื้อนลงไปในน้ำ จะส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ในสัตว์ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการรับและการสะสม หากสัตว์รับสารรังสีเข้าไปจะเพิ่มความเข้มข้นสะสมในห่วงโซ่อาหาร แต่ยังไม่มีผลยืนยันที่ชัดเจนว่าจะถึงขั้นเปลี่ยนระบบนิเวศน์ใต้ทะเลหรือไม่


ภาพ  ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ปราจีนบุรี 

ข่าวแนะนำ