"ไข้เลือดออก" คร่าชีวิตชาวโคราชแล้ว 1 ราย ผู้ว่าฯสั่งยกระดับกำจัดลูกน้ำยุงลาย
โคราชสังเวย "ไข้เลือดออก" แล้ว 1 ราย ผู้ว่าฯสั่ง 32 อำเภอ ยกระดับป้องกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ควบคุมการระบาดของโรคให้ได้
โคราชสังเวย "ไข้เลือดออก" แล้ว 1 ราย ผู้ว่าฯสั่ง 32 อำเภอ ยกระดับป้องกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ควบคุมการระบาดของโรคให้ได้
วันนี้ (16 มี.ค.66) ที่ห้องประชุมท้าวมูลนิธิท้าวสุรนารี ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ซึ่งมีนายอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดยนายแพทย์สุผล ตันติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2566 ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีผู้ป่วย 43 ราย เสียชีวิต 1 ราย
สำหรับรายที่เสียชีวิตพบในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว เป็นผู้ป่วยเพศชาย อายุ 51 ปี ไม่มีโรคประจำตัว อาชีพเป็นเกษตรกร รับจ้างทำสวน อาศัยอยู่ในตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 เข้ารับการรักษาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 และเสียชีวิตลงในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 แต่มีปัจจัยเสี่ยง มีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา จึงมอบให้พื้นที่ที่มีการระบาดของโรคจนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว คืออำเภอสีคิ้ว ตั้งวอร์รูมและดำเนินการตามขั้นตอนในการขจัดลูกน้ำยุงลาย ขจัดลูกยุงตัวแก่ และ Big cleaning เพื่อไม่ให้เกิดลูกน้ำยุงลายในทุกหมู่บ้าน รวมไปถึง มอบให้ทั้ง 32 อำเภอ ดำเนินการในลักษณะนี้หากมีผู้ป่วยไข้เลือดออกในพื้นที่ดูแล และขอให้ท้องที่-ท้องถิ่นต่างๆ ออกประกาศป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ให้เข้มข้น พร้อมกับนำข้อมูลแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้รับทราบ
อย่างไรก็ตามที่ประชุมฯได้เปิดเวทีแสดงความคิดเห็นปัจจัยเสี่ยงในการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกด้วย โดยให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม ลดความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกในช่วงหน้าแล้ง เพื่อให้หน้าฝนที่จะมาถึงไม่เกิดการระบาดของไข้เลือดออก ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดยุงลาย ก็คือ การรณรงค์ประชาชนร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายในทุกพื้นที่อย่างจริงจัง
วิธีการป้องกันไข้เลือดออก จากกรมควบคุมโรค
นอนในมุ้งหรืออยู่ในห้องติดมุ้งลวด ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ทาโลชั่นกันยุงที่มีองค์ประกอบของ DEET ความเข้มข้นในเด็กและผู้ใหญ่ที่แนะนำ คือ 20-30% และ 20-50% และปฏิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก จัดเก็บเสื้อผ้าใส่ตู้ให้เป็นระเบียบ เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ เช่น กะลา กระป๋อง ถุงพลาสติก ควรเก็บทิ้งหรือถม ยางรถยนต์เก่าสามารถดัดแปลงนำมาใช้ประโยชน์หรือขายให้สถานประกอบการ
เก็บแหล่งน้ำ ปิดให้มิดชิด เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ภาชนะขังน้ำขนาดเล็กหมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกันดอกไม้สด แจกันหิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ ขวดเลี้ยงพลูด่าง ไม้ประดับ ใส่ทรายธรรมดาในจานรองกระถางต้นไม้ให้ดูดซับน้ำ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
อาการไข้เลือดออก
ทั้งนี้ ประชาชนควรสังเกตอาการของตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก หรือผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลันนานเกินกว่า 2 วันร่วมด้วยกับอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยากินเอง
โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายหยุดยาก รวมถึงภาวะตับวาย เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และ ไดโคลฟีแนค สำหรับร้านขายยาและคลินิก ควรแนะนำผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออกให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หากมีข้อสงสัยสามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422”
ภาพจาก AFP/ผู้สื่อข่าวโคราช
ข่าวแนะนำ
-
ยึดไอซ์ 1,000 กก.ทะลักชายแดนใต้
- 16:03 น.
-
อพยพชาวบ้านด่วน น้ำหลากแม่ระมาด
- 10:20 น.