ไข้เลือดออก เริ่มระบาด! 4 จังหวัดภาคอีสานป่วยแล้ว 264 ราย
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา รายงาน 4 จังหวัดภาคอีกสานป่วย "ไข้เลือดออก" แล้ว 264 ราย ระยะฟักตัว-ติดต่อกี่วันเช็กเลย
วันนี้( 23 มิ.ย.65) นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง
ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ จากข้อมูลล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน ขณะนี้พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 264 ราย
โดยแยกเป็น
-จังหวัดนครราชสีมา 124 ราย
-จังหวัดชัยภูมิ 32 ราย
-จังหวัดบุรีรัมย์ 5 ราย
-จังหวัดสุรินทร์ 103 ราย
ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในกลุ่มเด็ก อายุ 5-14 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอมของเด็กนักเรียน จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ อสม.ลงพื้นที่กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายตามสถานที่ต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างเร่งด่วนแล้ว
จากการพยากรณ์โรคไข้เลือดออก คาดว่า ในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เมื่อฝนตกลงมาจะมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ประกอบกับเป็นช่วงเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาต่างๆ ทำให้มีการรวมตัวของกลุ่มเด็กวัยเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้ จึงขอให้ประชาชนทุกบ้าน ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ เพราะเป็นวิธีการป้องกันโรคที่ได้ผลดีที่สุด ด้วยหลักการ 3 เก็บ เพื่อไม่ให้ยุงลายวางไข่ คือ เก็บกวาดบ้านให้ปลอดโปร่ง เก็บขยะทุกชนิดและเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งขังน้ำให้ยุงวางไข่เพาะพันธุ์ได้
ในวันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ได้ลงพื้นที่รณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกตามตำบล หมู่บ้าน และโรงเรียนต่างๆ โดยให้คำแนะนำวิธีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรค พร้อมทั้งแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก ส่วนในพื้นที่อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำอุปกรณ์ออกไปพ่นหมอกควันป้องกันกำ จัดยุงลายในชุมชนต่างๆ ด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน และเป็นช่วงที่โรคไข้เลือดออกเริ่มระบาด
ขณะที่ กรมควบคุมโรค ได้เคยให้รายละเอียดเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกไวดังนี้
ลักษณะโรค ไข้เลือดออก (Dengue Fever)
โรคไข้เลือดออกเดงกี เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคนี้ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 100 ประเทศที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยังคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 40 (2,500 ล้านคน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งเป็น single - strand RNA จัดอยู่ใน genus Flavivirus และ family Flaviviridae มี 4 serotypes คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3 และ DEN-4 ทั้ง 4 serotypes มี antigen ร่วมบางชนิด จึงทำให้มี cross reaction และ cross protection ได้ในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีชนิดนั้นตลอดไป (long lasting homotypic immunity) และจะมีภูมิคุ้มกัน cross protection ต่อชนิดอื่น (heterotypic immunity) ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีไวรัสเดงกีชุกชุมอาจมีการติดเชื้อ 3 หรือ 4 ครั้งได้
วิธีการติดต่อ
โรคไข้เลือดออกเดงกีติดต่อกันได้โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ และในชนบทบางพื้นที่ จะมียุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้
ระยะฟักตัว
ระยะเพิ่มจำนวนของไวรัสเดงกี ในยุง ประมาณ 8-10 วัน
ระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสเดงกี ในคน ประมาณ 3-14 วัน โดยทั่วไปประมาณ 5-8 วัน
ระยะติดต่อ
โรคไข้เลือดออกเดงกีไม่ติดต่อจากคนสู่คน ติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นแมลงนำโรค การติดต่อจึงต้องใช้เวลาในผู้ป่วยและในยุง ระยะที่ผู้ป่วยมีไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 จะมีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก ระยะนี้จะเป็นระยะติดต่อจากคนสู่ยุง และระยะเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในยุงจนมากพออีกประมาณ 8-10 วัน จึงจะเป็นระยะติดต่อจากยุงสู่คน
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมควบคุมโรค
ภาพจาก AFP/ผู้สื่อข่าวนครราชสีมา