สธ.เฉลยแล้วเหตุจันทบุรีท้องเสียทั้งเมืองสาเหตุหลัก ‘อากาศเปลี่ยน’
สาธารณสุขแจงพบผู้ป่วยในจันทบุรีท้องเสียพร้อมกัน เผยสาเหตุหลัก จากอากาศเปลี่ยน,น้ำดื่มและอาหาร เร่งส่งจนท.สุ่มตรวจสอบแหล่งผลิต
วันนี้ ( 29 ธ.ค. 64 )ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.จันทบุรี นพ.อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุข ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชน กรณีพบผู้ป่วยมีอาการท้องเสียพร้อมกันเป็นจำนวนมาก จนเกิดวิกฤติเตียงเต็มเกือบทุกโรงพยาบาล ในเขต อ.เมืองจันทบุรี จนมีการแชร์ข่าวออกสื่อโซเชี่ยล ว่าเป็นปรากฏการณ์ท้องเสียหมู่โดยไม่ทราบสาเหตุ
นพ.อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุข เปิดเผยว่า สาเหตุหลักเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ตลอดจนน้ำดื่ม น้ำแข็งตลอดจนอาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุ โดยผู้ป่วยท้องเสียที่พบจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยปีก่อนๆ พบส่วนหลักๆจะเป็นในกลุ่มเด็กและคนวัยทำงาน โดยจะมีตัวเลขการพบผู้ป่วยท้องเสีย (ถ่ายท้องไม่มีอาเจียน) ในระยะนี้ เฉลี่ยวันละประมาณ 200 คน ทั่วทั้งจังหวัด แต่ในปีนี้ อาจจะมีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละกว่า 200 คน และพบมากในเขต อ.เมือง และอำเภอท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงาน ที่แยกเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด และคนจันทบุรี ที่เดินทางกลับมาจากจังหวัดอื่น ส่วนโรงพยาบาลต่างอำเภอ ยังไม่พบรายงานมีผู้ป่วยท้องเสียเป็นกลุ่มก้อนใหญ่
ซึ่งสาเหตุที่มีวิกฤติเตียงเต็มเกือบทุกโรงพยาบาลในเขตอำเภอเมือง เนื่องจากมีผู้ป่วยอาการท้องเสียเข้ามารับการรักษาพร้อมกัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ทั้ง 2 แห่ง ที่เตียงกว่าร้อยละ 70 ไว้เอารับรองผู้ป่วยโควิด ทั้งนี้เป็นในส่วนของผู้ป่วยที่มีประกัน ซึ่งมีกำลังพอที่จะใช้สิทธิ์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน แต่ในส่วนของโรงพยาบาลพระปกเกล้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลต่างอำเภอใกล้เคียง ยังมีเตียงว่างรองรับผู้ป่วย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย หากแพทย์วินิจฉัยพบว่ามีอาการหนักก็จะให้นอนพักรับการรักษาตามสิทธิ์ และเพื่อเป็นการหาความชัดเจน ทางสาธารณสุข จะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งผลิตน้ำดื่ม น้ำแข็งทุกแห่งใน จ.จันทบุรี แต่ในส่วนของร้านค้าขายอาหารสด อาหารทะเล น้ำประปาเพื่อบริโภค และผักสด จะมีการลงพื้นที่สุ่มตรวจ ทั้งนี้ เพื่อนำผลตรวจสอบมาวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป
นอกจากนี้ยังได้แนะนำประชาชน ป้องกันการเกิดโรคท้องเสียเฉียบพลันการ ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ อย่างน้อย 20 วินาที ดื่มน้ำ น้ำแข็งที่สะอาด รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ควรอุ่นอาหารที่ค้างมื้อก่อนรับประทาน ล้างผักผลไม้ก่อนนำมารับประทานเสมอ และหากพบว่ามีอาการท้องเสีย การรักษาเบื้องต้นให้รักษาตามอาการ เช่นดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าใกล้บ้าน หากมีอาการรุนแรงโดยมีการ อาเจียนร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อป้องกันภาวะช็อกจากการขาดน้ำ
ข้อมูลจาก : ผู้สื่อข่าวจังหวัดจันทบุรี
ภาพจาก : ผู้สื่อข่าวจังหวัดจันทบุรี
ข่าวแนะนำ
-
งดงามตระการตาแห่เทียนพรรษาโคราช
- 11:49 น.
-
ฝนถล่มนาน 5 ชม.น้ำท่วมเมืองตราด
- 10:41 น.