วัฒนธรรมผ่านอาหาร “จีนยูนนาน” ชุมชนบ้านยาง
“บ้านยาง” ชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านวิถี ความเป็นอยู่ อาหารการกิน ความเชื่อ ตลอดจนอาคารสถาปัตยกรรมของชุมชน เป็นกิจกรรมที่บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และมูลนิธิโครงการหลวงโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) ส่งเสริมให้เกิดในพื้นที่ชุมชนบ้านยาง ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งชุมชนโดยรอบ ซึ่งมี 3 ศาสนา พุทธ คริสต์ และอิสลาม
“บ้านยาง” ชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านวิถี ความเป็นอยู่ อาหารการกิน ความเชื่อ ตลอดจนอาคารสถาปัตยกรรมของชุมชน เป็นกิจกรรมที่บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และมูลนิธิโครงการหลวงโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) ส่งเสริมให้เกิดในพื้นที่ชุมชนบ้านยาง ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งชุมชนโดยรอบ ซึ่งมี 3 ศาสนา พุทธ คริสต์ และอิสลามชาวจีนยูนนานอพยพมาอยู่บ้านยาง ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์ไทย เกิดเป็นชุมชนชาวจีนยูนนานที่มีความเป็นมา เป็นหนึ่งในชุมชนไทยเชื้อสายจีนซึ่งนับถือศาสนาอิสลามที่พร้อมเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเติมเต็มรูปแบบพิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต เช่น เกี๊ยวซ่ายูนนานเจ้าแรกของบ้านยาง โดย เจ๊ฟาง- ศิริวรรณ แซ่ม้า เกี๊ยวซ่ายูนนานแบบโบราณเจ๊ฟาง เล่าว่า พ่อแม่เป็นชาวจีนยูนนานอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ด้วยมีฝีมือเชิงช่าง ตนสืบทอดมาเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าที่บ้านยางตั้งแต่อายุ 16 ปี จนกระทั่งมีการสร้างโรงงานหลวงฯ ฝาง ช่วยเหลือเกษตรกร ยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และตั้งพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงฯ
นอกจากนี้ยังมีคณะมาศึกษาดูงานและนักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้ต่อเนื่อง ดอยคำชวนพัฒนาเรื่องการเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน ตนนึกถึงอาหารจีนยูนนาน อย่างเกี๊ยวซ่า ปกติทำกินในบ้าน และในเทศกาลสำคัญ เช่น ตรุษจีน เพราะเกี๊ยวซ่าเป็นอาหารมงคลเหมือนมีเงินมีทอง
“เริ่มจากทำเกี๊ยวซ่าต้อนรับคณะต่างๆ ที่มาดูงานโรงงานหลวง และได้รับการเชิญชวนจากดอยคำจัดทำเมนูเกี๊ยวซ่าอาหารพื้นถิ่นขึ้นโต๊ะเสวยกรมสมเด็จพระเทพฯ ในโอกาสเสด็จฯ โรงงานหลวงฯ 2 ครั้ง เกี๊ยวซ่ายูนนานเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก่อนจะเปิดสอนทำเกี๊ยวซ่า และเปิดร้านเกี๊ยวซ่าเจ้าแรกขึ้นในชุมชน พัฒนากิจกรรมเรียนรู้ขึ้น มีบริการโฮมเสตย์สำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย “ เจ้าของร้านเกี๊ยวซ่าเล่าให้ฟัง
เกี๊ยวซ่าเจ๊ฟางจะทำเองทุกขั้นตอนตั้งแต่เตรียมวัตถุดิบ ปั้นแป้ง และทอดสดใหม่ ทำให้รสชาติกลมกล่อมเป็นที่ถูกใจผู้มาเยือน ทั้งยังร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านอาหารยูนนานนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถร่วมลงมือปั้นเกี๊ยวด้วยตนเองอีกด้วย
สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ ประกอบด้วยเนื้อไก่บด กระหล่ำปลีหรือผักกาดขาว กุ้ยช่าย ขิง แครอท ปรุงรสด้วยซีอิ๋วขาว ซอสหอยนางรม น้ำมันงา น้ำตาลทราย ผงผรุงรส พริกไทย ส่วนแป้งเกี๊ยวทำเองจากแป้งสาลี ตัดเป็นแผ่นวงกลม เมื่อเตรียมวัตถุดิบแล้ว จึงนำมาปั้นเป็นตัวเกี๊ยว และทอดด้วยน้ำมันเล็กน้อยเพื่อให้แป้งกรอบ
ชาวยูนนานจะกินจิ้มกับซอสจิ๊กโฉ่ว นอกจากนี้ ร้านยังพัฒนาน้ำจิ้มสูตรซอสแดงเพิ่มเข้ามา เป็นน้ำส้มหมักเอง เพิ่มความเผ็ดด้วยพริกแดงเพื่อตัดเลี่ยน ไส้เกี๊ยวสามารถปรับเปลี่ยนได้ จะใช้กุ้ง ปลา เนื้อวัว หรือไส้เจ ก็ทำได้
เจ๊ฟาง เล่าทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มว่า การร่วมพัฒนาชุมชนด้วยสำนึกพระมหากรุณาธิคุณที่ได้เข้ามาพึ่งใบบุญบนแผ่นดินไทย ได้เกิดและเติบโตที่นี่ ในหลวงดูแลทุกข์สุข สร้างโรงงาน พัฒนาประปาไฟฟ้า สร้างอาชีพให้คนบ้านยางมีกินมีใช้ มีสัญชาติไทย ถือเป็นการทำงานถวายในหลวง ร.9 เคยมีโอกาสรับเสด็จฯ สมเด็จย่า และในหลวง ร.9
ขณะเดียวกันการเปิดร้านเกี๊ยวซ่าก็สร้างอาชีพ สร้างเงินให้กับครอบครัวด้วย ตลอดชีวิตพวกเราก็มีความสุขร่มเย็น
ภาพโดย: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์